2. การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติ

หรือมีการเคลื่อนไหวไม่ประสานกันทำให้อุจจาระเคลื่อนไหวภายในลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ (colonic inertia)ปกติลำไส้ใหญ่จะเคลื่อนไหวไม่สม่ำเสมอและไม่เป็นรูปแบบที่แน่นอน มีการศึกษาพบว่าเพียงหนึ่งในสามของการบีบตัวของลำไส้เท่านั้นที่สามารถพาอุจจาระเคลื่อนไหวไปได้ การบีบตัวของลำไส้ใหญ่โดยปกติจะไม่ทำให้เกิดการอยากถ่ายอุจจาระ แต่มีการบีบตัวของลำไส้ชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้รู้สึกอยากถ่ายได้ การบีบตัวชนิดนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย มีลักษณะพิเศษคือมีแรงบีบตัวมากกว่าการบีบตัวตามปกติมาก และการบีบตัวมักเริ่มจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้นมาที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เราเรียกการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ชนิดนี้ว่า high amplitude propagated contraction หรือเรียกย่อ ๆ ว่า HAPC มีรายงานว่าผู้ป่วยท้องผูกมีการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ชนิดนี้เฉลี่ยเพียง 2 ครั้งต่อวัน น้อยกว่าในคนปกติที่มีเฉลี่ย 6 ครั้งต่อวัน ปกติการบีบตัวชนิดนี้มักเกิดหลังตื่นนอนตอนเช้าและหลังอาหาร ดังนั้นผู้ป่วยท้องผูกจึงมีโอกาสเลือกเวลาในการถ่ายได้น้อยกว่าคนปกติ (เฉลี่ย 2 ครั้ง) ถ้าผู้ป่วยพลาดการถ่ายเมื่อรู้สึกอยากถ่ายจากการบีบตัวของลำไส้ชนิดนี้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ถ่ายมักจะต้องรอไปในวันถัดไป จึงจะเกิดความรู้สึกอยากถ่ายมาใหม่ต่างกับคนปกติซึ่งมีเวลาที่จะเลือกถ่ายได้เฉลี่ย 6 ครั้งต่อวัน
ผู้ป่วยท้องผูกรุนแรงเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุประมาณ 13-37% พบว่าเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวช้าอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ไม่ประสานกัน หรือเกิดจากการที่มีการบีบตัวไล่อุจจาระอย่างแรงของลำไส้ใหญ่ (HAPC) น้อยลงหรือไม่มีเลยทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่ช้า เราเรียกภาวะนี้ว่า colonic inertia ผู้ป่วยมักให้ประวัติว่าไม่ค่อยมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระและมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อย อุจจาระมักจะแข็ง เนื่องจากค้างอยู่ในลำไส้นานทำให้น้ำถูกดูดซึมออกไปจากก้อนอุจจาระ ซึ่งการมีอุจจาระแข็งทำให้ผู้ป่วยถ่ายลำบากหรือเจ็บขณะถ่ายมากขึ้น



การวินิจฉัยแยกโรค

ภาวะนี้ต้องแยกจากภาวะท้องผูกที่เกิดจากสาเหตุหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของอุจจาระภายในลำไส้ช้ากว่าปกติและเกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน เช่น ยาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก โรคทางกายต่าง ๆ เช่น hypothyroid, hypercalcemia และการมีการอุดกั้นของลำไส้ใหญ่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

การรักษา

การรักษาผู้ป่วยที่การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ (colonic inertia)
ผู้ป่วย colonic inertia ที่มีอาการไม่มากมักได้ผลด้วยการใช้ยาระบาย การให้ fiber ในผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงมากมักไม่ได้ผลและอาจทำให้ท้องอืดและปวดท้องได้ โดยทั่วไปควรเริ่มต้นรักษาผู้ป่วย colonic inertia ด้วยยาระบายที่แรงกว่า fiber เช่น MOM หรือยากลุ่ม stimulant laxative แต่ในรายที่มีอาการมาก และรักษาไม่ได้ผลด้วยยาอาจจำเป็นที่จะค้องตัดลำไส้ใหญ่ออก ซึ่งการผ่าตัดที่ได้ผลก็คือการทำ ileorectostomy หรือ ileoproctostomy การตัดเพียงบางส่วน เช่น cecorectal และ ilieosigmoid anastomosis ได้ผลไม่ดี โดยเฉพาะ sigmoidectomy ไม่ควรทำเพราะมักไม่ได้ผล
การตัดลำไส้ใหญ่ออกควรทำเฉพาะในผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยมีอาการมากไม่ตอบสนองต่อยาระบาย
2. ผลการตรวจ colonic transit test พบว่ามี delayed colonic transit จริง
3. การตรวจ anorectal function พบว่าปกติ ไม่มีปัญหา anorectal dysfunction ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยถ่ายไม่ออกแม้ว่าจะตัดลำไส้ใหญ่ไปแล้ว
4. ไม่มีปัญหา diffuse GI dysmotility โดยการตรวจ small bowel motility ได้ผลปกติ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีปัญหา diffuse GI dysmotility แม้ว่าจะตัดลำไส้ใหญ่ไปแล้วแต่ลำไส้เล็กยังทำงานผิดปกติก็ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีปัญหาท้องผูกหลังผ่าตัดได

ท้องผูก

ท้องผูก ท้องผูกเรื้อรังท้องผูกเนื่องจากกล้ามเนื้อควบคุมไม่ดี การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติภาวะลำไส้แปรปรวนการวินิจฉัย การรักษาผู้ป่วยอาการท้องผูก