สธ.เตือนระวังหวัดนก ไม่ได้สัมผัสไก่โดยตรงก็ติดได้



12 พฤศจิกายน 2548 12:33 น.
กทม. กรมปศุสัตว์ และสาธารณสุข ลงพื้นที่เขตคลองสามวาตรวจสอบหลังพบเด็กวัยขวบเศษติดเชื้อหวัดนกรายแรกปีนี้ใน กทม. สั่งเฝ้าระวังพื้นที่โดยรอบรัศมี 1 กม. เตือนระวังอาจรับเชื้อได้แม้ไม่ได้สัมผัสไก่โดยตรงนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา และเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา ลงพื้นที่บ้านของเด็กชายวัย 1 ขวบครึ่งที่เขตคลองสามวา ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย นับเป็นรายที่ 4 ของประเทศในรอบปี 2548 โดยขณะนี้เด็กพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช

จากการลงพื้นที่พบว่าที่บ้านของเด็กพบว่า มีการเลี้ยงไก่สวยงาม 3 ตัว และเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ไก่ตายทั้งหมด ขณะที่เด็กมีอาการไข้สูง หายใจลำบากมาตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. ญาตินำส่งรพ.เกษมราษฏร์ อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 6 พ.ย. นำส่งโรงพยาบาลศิริราชด้วยอาการปอดอักเสบ และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบติดเชื้อหวัดนก เอช 5 เอ็น 1 ส่วนการออกตรวจดูไก่และนกในรัศมี 1 กิโลเมตรจากของบ้านเด็กชายคนดังกล่าว พบว่ามีการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่เลี้ยง ไก่ชน ประมาณ 84 ตัว สำหรับพื้นที่คลองสามวา เป็นพื้นที่เดิมที่ กทม.ประกาศเป็นพื้นที่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในคน และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสำหรับสัตว์ปีกด้วยหรือไม่

นายยุคล เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้ กทม.ได้รับแจ้งผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยเป็นไข้หวัดนกมาตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. โดยไก่ในบ้านตายมาตั้งแต่วันที่ 31ต.ค.ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 2 พ.ย. แต่ทางกรมปศุสัตว์ไม่ได้รับแจ้งเรื่องสัตว์ตายเลย เนื่องจากไก่มีอายุมากถึง 8 ปี เจ้าของเข้าใจว่าตายโดยธรรมชาติ จึงไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาทำการเก็บตัวอย่าง ในวันนี้ทางเขตได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ออกฉีดพ่นยา โรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ และทำการเก็บตัวอย่างเชื้อในสัตว์ปีกบริเวณรอบบ้านของเด็กที่ป่วย

ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า จำนวนบุคลากรที่ลงพื้นที่ในด้านตะวันออกแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมปุศสัตว์ร่วมด้วยแต่ทราบว่ามีเพียง 10 คนเท่านั้นจึงอยากฝากสำนักอนามัยให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ กทม.ลงพื้นที่มากขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่เกิดความกลัว หากมีไก่ตาย กลัวว่าไก่ที่ไม่ตายจะถูกฆ่าตายไปด้วย รวมทั้งกลัวการถูกพ่นยา ขณะเดียวกันความเป็นอยู่ของชาวบ้านย่านนี้มีลักษณะการเป็นอยู่แบบพื้นบ้านชนบท ที่มีโอกาสแพร่เชื้อง่าย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งให้ความรู้ โดยเฉพาะการเก็บซากไก่ที่บ้านของเด็กที่ป่วย ซึ่งป้าของเด็กได้เก็บซากไก่โดยใส่ถุงดำแล้วทิ้งใส่รถขยะ อาจมีการแพร่เชื้อได้

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ได้รายงานให้ผู้ว่าฯ กทม.ทราบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. และได้ลงพื้นที่ทำความสะอาด โดยได้ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา ทำการเจาะเลือดของญาติผู้ป่วย 17 คน เพื่อเพาะเชื้อ ยืนยันว่า กทม.มีระบบกลั่นกรองและตรวจประวัติผู้สัมผัสโรคตามขั้นตอน ทั้งนี้เด็กชายรายนี้ เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 22 ที่เข้าข่ายต้องสงสัยของ กทม.

นพ.คำนวณ กล่าวว่า ลักษณะการติดเชื้อไข้หวัดนกในระยะหลังจะไม่ใช่รับการสัมผัสโดยตรง เช่น การสัมผัสจากฝุ่นฟุ้งของมูลไก่ หรือการติดเชื้อของเด็กเล็กที่ไม่ได้สัมผัสกับไก่โดยตรง อย่างเช่นผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งผลดี คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง และรักษาหาย ทำให้อันตรายต่อชีวิตลดลงถึงร้อยละ 75 และลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคต

ขณะที่ผลเสียคือ เมื่อผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง ก็จะไม่ไปพบแพทย์ อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ส่วนเชื้อได้พัฒนาขึ้นหรือไม่นั้น ตามระบบเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลกพบว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ แต่โดยธรรมชาติของเชื้อจะพัฒนาที่ละเล็กละน้อย ขอเตือนผู้ปกครองเด็กเล็กต้องระวังด้านสุขอนามัย การล้างมือ ห้ามเข้าใกล้ไก่ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีไก่ตาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที การโยนทิ้งน้ำ ไม่ใส่ถุงมือ เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมาก และขณะนี้สำนักระบาดวิทยา ได้ให้ยาต้านไวรัสทามิฟูลกับญาติที่ใกล้ชิดเด็กจำนวน 10 คน ที่เหลืออีก 7 คน ไม่ต้องกินยาแต่ต้องติดตามอาการตรวจวัดไข้ไปจนถึงวันที่ 21 พ.ย.

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อยากเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม.นำกลไกกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้รับแจ้งสัตว์ปีกป่วยตาย เนื่องจากพื้นที่ กทม.ไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้เฝ้าระวังโรคเหมือนในต่างจังหวัด โดยกลไก อสม.เป็นการพิสูจน์แล้วว่า สามารถเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกได้ดี ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมในการควบคุมกำจัดสัตว์ปีกป่วย รวมทั้งฉีดพ่นสารเคมีควบคุมโรค สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดนกในสัตว์ปีกนั้น พบจุดระบาดใหม่ที่ ต.เจดีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยได้ทำลายเป็ดไล่ทุ่งไปแล้วกว่า 1,000 ตัว

เพิ่มเพื่อน