หวัดนก "แรงสุด" กลืน 140 ล้านชีวิต จีดีพีโลกพังยับ 4.4 ล้านล้านดอลล์




พัฒนาการการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส H5N1 จนลุกลามไปทั่ว 3 ทวีปใหญ่ของโลก อันได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มาพร้อมกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่สูงถึง 53% แล้ว โดยมีเยอรมนี ฮังการี และอิหร่าน เป็นจุดแพร่ระบาดใหม่ นับถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ยิ่งหวัดนกเร่งระดับการแพร่ระบาดเร็วเท่าใด ความหวาดวิตกนกในหมู่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ซึ่งนำไปสู่การจัดทำงานวิจัยชิ้นล่าสุด ของสถาบันโลวี อินสติติวต์ โดย ศาสตราจารย์วาร์วิก แมคกิบบิน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ร่วมกับ ดร.อเล็กซานดรา ซิโดเรนโก นักวิจัยประจำศูนย์สาธารณสุข และระบาดวิทยา

งานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองให้ตัวเลขความน่าจะเป็นของผู้เสียชีวิต หากไข้หวัดนกลุกลามเป็นโรคระบาดล้างโลกในระดับรุนแรงที่สุดว่า จะกลืนชีวิตประชากรทั่วโลกไม่น้อยกว่า 142 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลข ที่ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการขององค์การอนามัยโลกที่อยู่ที่ 150 ล้านคน เมื่อเดือนกันยายน 2548

ความรุนแรงที่ระดับดังกล่าว ไม่เพียงจะกลืนชีวิตคนเป็นหลักร้อยล้าน แต่ยังส่งผลกระทบมหันต์ต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้สูงสุดถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับจีดีพีต่อปีของญี่ปุ่นทั้งประเทศ

หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง รวมถึงฮ่องกง ซึ่งคาดว่ามูลค่าจีดีพีจะหดหายไปกว่าครึ่ง แม้แต่ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ หวัดนกจะผลาญมูลค่าจีดีพีไทยวูบลงถึง -5.3% ในระดับรุนแรง และ -10.3% ในระดับขั้นร้ายแรงสุด

นอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ H5N1 ยังอาจทำให้หลายประเทศสูญเสียทุนมนุษย์เป็นจำนวนมาก อาทิ ประมาณว่าจีนจะสูญเสียพลเมืองให้กับโรคระบาดชนิดนี้ถึง 28.4 ล้านราย รองลงมาคือ อินเดีย 24 ล้านราย อินโดนีเซีย 11.4 ล้านราย ฟิลิปปินส์ 4.1 ล้านราย ญี่ปุ่น 2.1 ล้านราย รวมถึงไทยที่คาดว่าจะสูญเสียชีวิตพลเมืองไปประมาณ 1.62 ล้านราย หรือ 2.63% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ยุโรปทั้งภูมิภาคสูญเสียราว 5.6 ล้านราย และสหรัฐอย่างน้อย 2 ล้านราย

แม้แต่การระบาดในขั้นที่ไม่รุนแรงนัก ยังมีสิทธิเผาผลาญเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 330 พันล้านดอลลาร์ และคร่าชีวิตชาวโลกได้อย่างน้อย 1.4 ล้านราย

ที่น่าวิตกคือ ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งร่วมศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ 29 คนทั่วโลก และเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ไข้หวัดนกมีพัฒนาการทางพันธุกรรมไปจากเดิมมาก โดยพบว่า สายพันธุ์ H5N1 ที่พบในกลุ่มตัวอย่างมีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างน้อย 4 แบบ อีกทั้งยังสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในสัตว์ปีก โดยไม่ทำให้พาหะแสดงอาการป่วยให้เห็นเลย

ปัจจุบันไวรัส H5N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสหวัดนกแล้วทั้งสิ้น 140 ราย และทำให้ผู้ป่วยในจำนวนดังกล่าวเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 70 คน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังอยู่ในขั้นของการติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิตกว่า พัฒนาการของไวรัสชนิดนี้จะกลายเป็นฝันร้ายของชาวโลกทันที หากสามารถกลายพันธุ์จนแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนได้

   

เพิ่มเพื่อน