ข่าวหวัดนก จีนเงียบ-ยุโรปแตกตื่น



คอลัมน์ ข่าวเด็ด7วัน

จุดสนใจในข่าวไข้หวัดนกวนจากยุโรปกลับมาที่เอเชียในสัปดาห์นี้

เมื่อมีรายงานพบพื้นที่ระบาดของเชื้อเพิ่มเติมในดินแดนใหญ่ๆ อย่างจีนถึง 3 แห่ง และการยืนยันสาเหตุการตายของชาวอินโดนีเซียรายที่ 4 ว่าเป็นเชื้อเอช 5 เอ็น 1


ในยุโรป ผลการวิเคราะห์เชื้อที่พบในซากหงส์ที่ตายคาทะเลสาบประเทศโครเอเชียออกมาแล้วเช่นกันว่าเป็นเอช 5 เอ็น 1

เชื้อชนิดร้ายแรงซึ่งคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อในเอเชียด้วยอัตราที่สูงถึงร้อยละ 50 จาก 121 ราย ตายแล้ว 62 ราย

เกษตรกรในยุโรปมองว่า สำนักข่าวต่างประเทศของชาติตะวันตกรายงานข่าวนี้ให้ตื่นตระหนกกันเกินไป จนยอดขายเนื้อสัตว์ปีกลดฮวบ



ส่วนสื่อตะวันตกเห็นว่า สื่อมวลชนจีนนิ่งเงียบเกินไปสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้
ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียโดนแฉเช่นกันว่า ปิดข่าวหวัดนกมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2546
นายไชรุล นิดอม นักจุลชีววิทยาอาวุโสประจำศูนย์โรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยไอร์ลังกา นักวิชาการ แฉว่า รัฐบาลอินโดนีเซียถูกแรงกดดันจากภายนอกประเทศให้ปกปิดข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
แม้นักวิชาการรายนี้ไม่ชี้ชัดว่า แรงกดดันที่ว่าพัวพันกับธุรกิจการค้าสัตว์ปีกหรือไม่ แต่บอกว่าการปิดข่าวทำให้ความเสียหายขยายวงกว้างจนถึงวันนี้
รัฐบาลอินโดนีเซียทราบว่าโรคหวัดนกกำลังระบาดในประเทศตั้งแต่ปี 2546 หลังจากมาสอบถามผู้เชี่ยวชาญว่า เชื้อที่พบเป็นเอช 5 เอ็น 1 หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือใช่ แต่ข่าวเพิ่งมาแดงปีนี้ หลังจากมีผู้เสียชีวิต
ข่าวล่าสุดที่รัฐบาลแถลง คือมีผู้ป่วยหวัดนกเสียชีวิตเป็นรายที่ 4
ผู้ตายเป็นชายวัย 23 ปี อาศัยอยู่ในเมืองโบกอร์ ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา และมีประวัติสัมผัสกับไก่
ขณะที่อีก 3 คนที่อาการป่วยหนัก
สัปดาห์นี้ ทางการอินโดนีเซียแถลงด้วยว่า พบไก่ตายน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อในพื้นที่เกาะบาหลี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ
มาตรการรับมือที่แถลงออกมาคือจะระดมนักศึกษาสัตวแพทย์ 1,000 คนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศตรวจสอบค้นหาไก่ติดเชื้อตามบ้านชนิดหลังต่อหลัง
ขณะเดียวกัน นักวิจัยของอินโดนีเซียเปิดเผยว่ายังมึนงงกับเส้นทางการติดต่อของเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คน
จากประวัติผู้ป่วย 7 ราย ผู้เสียชีวิต 4 ราย ตลอดจนผู้อยู่ระหว่างสังเกตอาการอีก 28 รายนั้นพบว่า มีเพียงผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเท่านั้นที่มีประวัติอาศัยในบ้านที่มีไก่ตายเนื่องจากไข้หวัดนก

ผู้เชี่ยวชาญในด้านสาธารณสุขอินโดนีเซียเริ่มหันมาศึกษาสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นพาหะ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแมว สุนัข หนูตะเภา หรือหนู พร้อมทั้งระบุว่ามีรายงานการศึกษาจากไทยที่พบแมวติดเชื้อเมื่อปีก่อน ดังนั้น แนวทางการศึกษาต่อไปคือความเป็นไปได้ที่ไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ในอินโดนีเซียอาจติดต่อจากแมว
สำหรับจีน ซึ่งถูกสำนักข่าวต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานสถานการณ์นี้อย่างเงียบๆ



บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า ทางการรัฐบาลสั่งว่าไม่ควรรายงานข่าวนี้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเกรงว่า ข่าวจะทำให้ประชาชนตื่นกลัว

จากที่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว หากคนตื่นข่าวจะไปทำลายรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก

ข่าวล่าสุดที่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเป็นคำกล่าวของนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรี ว่า มีการฆ่าทิ้งสัตว์ปีกภายในประเทศครั้งใหญ่เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ

รายงานไม่มีรายละเอียดว่า ฆ่าทิ้งจำนวนเท่าใดและในสถานที่ใด
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชื่นชมรัฐบาลจีนว่าให้ความร่วมมือติดตามสถานการณ์เป็นอย่างดี
หลังกระทรวงเกษตรจีนทำรายงานส่งถึงองค์การอนามัยโลกว่า ตรวจพบเชื้อระบาดระลอกที่ 6 ของปีนี้ ในหมู่บ้านเหลียนหยิง เมืองเทียนฉาง มณฑลอันฮุย ทางภาคตะวันออก
ภายหลังจากสัตว์ปีกในหมู่บ้านล้มตายไป 500 ตัว และติดเชื้อหวัดนกอีก 2,000 กว่าตัว
จากนั้นอีกวัน จีนแถลงอีกว่าพบเชื้อระบาดในมณฑลเหอหนาน เป็นการพบเชื้อแห่งที่ 3 ในรอบสัปดาห์นี้ โดยเป็ดไก่ล้มตายไป 545 ตัว
สถานการณ์ดูน่ากลัวขึ้น เมื่อพบเด็กหญิงวัย 12 ปีในเหอหนาน เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้หวัดนก หลังเด็กกินไก่ที่ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนน้องชายวัย 10 ขวบที่กินด้วยยังป่วยอยู่

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนยืนยันว่าสาเหตุการตายไม่ใช่ไข้หวัดนก แต่เป็นปอดบวม



ด้านฝั่งยุโรปหลังจากยืนยันว่าโครเอเชียพบเชื้อเอช 5 เอ็น 1 โปรตุเกสกับเยอรมนีก็หนาวๆ ร้อนๆ เมื่อพบสัตว์ปีกล้มตายน่าสงสัย

โปรตุเกสพบซากศพห่านและนกนางนวลอพยพ 17 ตัว ซึ่งตายอยู่บนชายหาดของเมืองเปนิเช ห่างจากทิศเหนือของกรุงลิสบอน 100 กิโลเมตร ส่วนที่เยอรมนี ทางการสั่งตรวจซากห่านป่ากับเป็ดป่าหลายสิบตัวที่ตายอยู่ในบริเวณทะเลสาบทางภาคตะวันตก

ส่วนที่เจอแล้วแน่นอนคือรัสเซีย พบพื้นที่ระบาดใหม่ในแถบไซบีเรีย เป็นเอช 5 เอ็น 1

ทางด้านฝรั่งเศสเกือบตกใจ เมื่อชาวฝรั่งเศสในเกาะเรอูนิยงเขตปกครองของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ต้องสงสัยติดเชื้อหวัดนกภายหลังเดินทางมาท่องเที่ยวชมสวนนกในประเทศไทย

เบื้องต้นผลการตรวจออกมาเป็นบวก แต่การตรวจขั้นต่อมาพบว่าเป็นลบ จึงแถลงว่าไม่ใช่เชื้อไข้หวัดนก

ขณะที่การเปิดเผยผลการตรวจสอบของยุโรปดูน่าเชื่อถือ ความเคลื่อนไหวในฝั่งเอเชียกลับเป็นที่กังขาว่า เปิดข้อมูลหมดแล้วหรือไม่ และจริงทั้งหมดหรือไม่

หน้า 10

เพิ่มเพื่อน