เวียนศีรษะ Dizziness


หลายท่านคงเคยเป็นโรคเวียนศีรษะ ผู้ป่วยมักจะมีชื่อเรียกต่างๆกันดังนี้ มึนศีรษะ งงศีรษะ บ้านหมุน หนักศีรษะ เป็นลม จะเห็นว่าเป็นปัญหาในการสื่อสารกับแพทย์เป็นอันมาก การที่จะวินิจฉัยโรคได้นั้นแพทย์จะต้องได้ประวัติที่ดี บทความนี้จะยกสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อย เพื่อที่ท่านสามารถจะสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าภาวะนี้จะพบบ่อยแต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ร้ายแรง สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ จากหูชั้นใน และจากระบบความดันโลหิต

การวินิจฉัยของโรคเวียนศีรษะ

เมื่อท่านไปพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะแพทย์จะถามหลายคำถามและท่านต้องตอบให้ตรงคำถามเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

  1. ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ
  • อาการเวียนศีรษะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนท่าเช่นการหันหน้า นั่งไปนอน หรือจากนอนไปท่านั่งเป็นต้น
  • ความรุนแรงของอาการเวียนศีรษะ
  • สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือไม่
  1. ระยะเวลาที่เกิดอาการ
  • ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
  • ปัจจัยที่ทำให้หาย
  • เป็นแต่ละครั้งนานแค่ไหน
  • หลังจากเวียนศีรษะมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่
  • เป็นบ่อยแค่ไหน
  1. อาการที่เกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะ
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรือไม่
  • มีอาการเครียดด้วยหรือไม่
  • มีอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติร่วมด้วยหรือไม่
  • มีเสียงดังในหูหรือไม่
  • มีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่


ท่านเป็นเวียนศีรษะประเภทไหน

การจะวินิจฉัยและรักษาจะต้องทราบก่อนว่าอาการเวียนศีรษะที่ท่านเป็นอยู่เป็นชนิดไหน ซึ่งแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆได้ 4 ชนิด

  1. อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนvertigo เป็นอาการที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน การเปลี่ยนท่า เช่นหันหน้าหรือการเปลี่ยนจากนอนเป็นนั่งจะทำให้เกิดอาการหมุน ผู้ป่วยมักจะนอนหลับตา หากลืมตาบ้านจะหมุนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน สาเหตุเกิดจากโรคของหูชั้นใน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
  • Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV)เมื่อท่านหันศีรษะหรือพลิกตัวจะทำให้ท่านเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากโรคหูชั้นใน
  • Vestibular neuronitis (labyrinthitis) เกิดจาการอักเสบของหูชั้นในจากเชื้อไวรัส
  • Meniere's disease เกิดจากน้ำเลี้ยงในหูชั้นในเพิ่มขึ้น
  • Acoustic neuroma เกิดจากเนื้องอกกดเส้นประสาท
  • Medications ยาหลายชนิดทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเช่น Aspirin, streptomycin, gentamicin, caffeine, alcohol และยาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
  1. อาการหน้ามืดเป็นลม Fainting มักเกิดขณะนั่งหรือนอนแล้วลุกขึ้นยืนผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นลม หน้ามืด มีอาการใจสั่น เหงื่อออก หน้าซีด ต้องนอนหรือนั่งจึงจะดีขึ้นที่สำคัญคือจะไม่หมดสติ บางรายมีคลื่นไส้ สาเหตุ
  • ความดันโลหิตต่ำ เมื่อท่านลุกขึ้นยืนเลือดจะไหลไปที่เท้าเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ร่างกายจะปรับตัวโดยการบีบตัวของหลอดเลือดดำเพื่อให้เลือดกลับไปที่หัวใจเพิ่มนอกจากนั้นหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น การปรับตัวทั้งสองเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อาจจะเกิดจากยาลดความดันโลหิต การเจ็บป่วยทำให้ได้รับน้ำไม่พอ  ผู้ป่วยขาดน้ำอย่างรุนแรงเช่นท้องร่วงหรืออาเจียน  หัวใจเต้นเร็วไปหรือช้าไป โรคของระบบประสาทอัตโนมัติเช่นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่นอนนานๆ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราวทำให้เกิดอาการหน้ามืด
  • เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  1. ผู้ป่วยที่มีอาการหนักศีรษะมึนๆ ผู้ป่วยรู้สึกมึนในศีรษะสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
  • โรคหูชั้นใน
  • โรคเครียด
  1. เวียนศีรษะแบบเดินเซทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการทรงตัวไม่ได้เวลาเดิน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
  • โรคหูชั้นใน
  • โรคของระบบประสาท
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้ทรงตัวลำบาก
  • จากยา เช่นยานอนหลับ ยากันชัก

การตรวจวินิจฉัยโรคเวียนศีรษะ

แสดงท่าตรวจให้นั่งแล้วนอนโดยหันศีรษะไปด้านซ้ายและด้านขวา

หลังจากที่แพทย์ทราบชนิดของเวียนศีรษะแพทย์จะตรวจหรือสั่งการตรวจเพิ่มเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ชนิดของเวียนศีรษะ

การตรวจ

เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน

  • ตรวจระบบหู
  • ตรวจตาว่ามีการกระตุก
  • ตรวจการได้ยิน
  • ตรวจจมูก คอ

เวียนศีรษะแบบหน้ามืดเป็นลม

  • ตรวจชีพขจร วัดความดัน
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น ultrasound หัวใจ
  • วัดความดันท่านอนและยืน

เวียนศีรษะแบบหนักๆศีรษะ

  • ตรวจทางจิตว่ามีความเครียดหรือไม่
  • อาจจะให้หายใจแรงๆดูว่ามีอาการหรือไม่

เวียนศีรษะแบบเดินเซ

  • ตรวจระบบการทรงตัวโดยการยืนหลับตา
  • ตรวจระบบประสาท

 

อาการเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์

  • เวียนศีรษะร่วมกับอาการหมดสติ
  • ตามัว
  • หูหนวก
  • พูดลำบาก
  • อ่อนแรงแขนขา
  • ชาแขนขา
  • เวียนศีรษะบ้านหมุน
  • เวียนศีรษะจนทำงานประจำไม่ได้
  • หากสงสัยว่าเกิดจากยาควรปรึกษาแพทย์
  • หากมีอาการมึนๆมากกว่า 3 สัปดาห์
  • มีอาการอื่นร่วมเช่น แน่นหน้าอก หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย

อาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาการเตือนของเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ

การดูแลตัวเองเบื้องต้น

  • นอนพักจนอาการเริ่มดีขึ้น
  • อย่าเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน
  • หันศีรษะช้าๆ
  • หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงเช่นเกลือ ยาบางชนิด
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นเช่น ความเครียด ภูมิแพ้
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างเช่นการขับยานพาหนะ การปีนบันได
  • หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะเพราะอาจจะทำให้เกิดเมารถ เมาเรือ
  • หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน
  • ยาแก้เวียนศีรษะ เช่น meclizine, dimenhydrinate, promethazine, scopolamine, atropine or diazepam

หู | การทำงานของหูชั้นกลาง | ยาที่ทำให้บ้านหมุน | เวียนศรีษะบ้านหมุน | โรค meniere | ความดันหูชั้นกลางไม่สมดุล |

Google
 

เพิ่มเพื่อน