อาการทางข้อของโรคเกาต์

อาจจะแบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. ข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute arthritis)

  • ข้ออักเสบในโรคเกาต์จะเป็นข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน มีข้อบวม แดง และร้อนอย่างชัดเจน
  • ในบางรายอาจมีไข้หรืออาการหนาวสั่นร่วมด้วย
  • ข้อที่พบได้บ่อยคือ ข้อหัวแม่เท้า ข้อเข่า และข้อเท้า ในระยะแรกข้อจะอักเสบเพียง 3-10 วัน และอาจหายไปได้เอง และจะเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง
  • แต่ถ้าเป็นไปนาน ๆ และได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ข้ออักเสบจะกำเริบบ่อยขึ้น เป็นนานขึ้น และข้ออักเสบจะค่อย ๆ ลามขึ้นมาบริเวณส่วนของแขน ได้แก่ ข้อศอก ข้อมือ และข้อนิ้วมือ
  • ในระยะหลัง ๆ ข้ออักเสบอาจเป็นพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ข้อได้
  • จากการศึกษาในคนไทยพบว่าข้ออักเสบครั้งแรกจะเป็นข้อเดี่ยวถึงร้อยละ 75-95 และเป็นกับข้อเท้า ข้อหัวแม่เท้า และข้อเข่าตามลำดับ
  • แต่ในกรณีที่เป็นกลับซ้ำ จะพบอาการอักเสบของข้อเท้า และข้อหัวแม่เท้าสูงถึงร้อยละ 73-85 และ 64-85 ตามลำดับ
  • ในบางรายผู้ป่วยอาจมีถุงน้ำอักเสบ (bursitis) หรือเอ็นอักเสบร่วมด้วยได้ และในบางรายโรคเกาต์อาจทำให้ผิวหนังอักเสบดูเหมือนการอักเสบจากการติเชื้อได้ (gouty cellulitis)
  • ปัจจัยที่อาจมีส่วนกระตุ้นให้โรคเกาต์กำเริบ ได้แก่ สุรา อาหารที่มีสารพิวรีนสูง การได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อ หรือภายหลังการเจ็บป่วยทั้งโรคทางอายุรกรรม และศัลยกรรม

2 ช่วงที่ไม่มีอาการ (intercritical gout)

เป็นช่วงที่ไม่มีอาการระหว่างข้อที่มีการอักเสบแต่ละครั้ง ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการข้ออักเสบอีกเลยหรือมีข้ออักเสบ 5-10 ปีต่อมา เมื่อติดตามผู้ป่วยภายหลังมีข้ออักเสบครั้งแรก พบว่าผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบกลับซ้ำอีกครั้งที่ 2 ภายใน 1,2 และ 3 ปี ร้อยละ 62, 78 และ 90 ตามลำดับ ในขณะที่น้อยกว่าร้อยละ 7 ไม่มีการอักเสบกลับซ้ำอีกเลยถึงแม้จะผ่านไปเป็นเวลากว่า 10 ปีก็ตาม ในช่วงที่ผู้ป่วยไม่มีข้ออักเสบนี้ หากผู้ป่วยมาพบแพทย์จะทำให้การวินิจฉัยทำได้ยา อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่า ในข้อที่เคยมีการอักเสบกำเริบมาก่อน ถึงแม้ว่าขณะนี้จะไม่มีข้ออักเสบกำเริบ แต่ถ้าทำการตรวจน้ำไขข้อพบว่าสามารถตรวจพบผลึกยูเรตในจากน้ำไขข้อได้

3 ข้ออักเสบเรื้อรังและมีก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout)

เมื่อเป็นโรคเกาต์เป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีการตกผลึกของผลึกยูเรตในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะแรกผลึกสะสมอยู่ในเยื่อบุข้อ แต่ต่อมาจะสะสมบริเวณรอบ ๆ ข้อ ทำให้เห็นปุ่มใต้ผิวหนัง บริเวณที่จะพบได้บ่อย คือ หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย ข้อศอก หลังมือ และนิ้วมือ รวมทั้งบริเวณใบหู ในบางครั้งก้อนโทฟัสจะแตกออกมาเป็นผงสีขาวคล้ายชอล์ค และก่อให้เกิดแผลเรื้อรัง ระยะเวลาจากการที่มีข้ออักเสบครั้งแรก จนเกิดโทฟัสใช้เวลาประมาณ 3-42 ปี โดยเฉลี่ยประมาณ 11-6 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยจะยังไม่มีโทฟัสในช่วง 5 ปีแรกของโรค แต่จากการศึกษาในคนไทย พบปุ่มโทฟัสเร็วภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 2.5-5 ปีเท่านั้น การเกิดปุ่มโทฟัสมักจะพบในผู้ที่เป็นโรคเกาต์ในอายุน้อย มีข้ออักเสบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยและเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และยังขึ้นอยู่กับระดับกรดยูริกในเลือด โดยพบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไม่มีก้อนโทฟัสจะมีระดับกรดยูริกประมาณ 9.1 มก./ดล. และกลุ่มที่มีก้อนโทฟัสปานกลางและมากจะมีระดับกรดยูริกระหว่าง 10-11 มก./ดล. และมากกว่า 11 มก./ดล. ตามลำดับ ก้อนโทฟัสเหล่านี้จะทำลายกระดูกทำให้เห็นลักษณะกระดูกถูกกัดกร่อนในภาพรังสี (asymmetric soft tissue swelling, non-marginal erosion, over hanging edge, etc) ในรายที่ผลึกเกลือยูเรตสะสมบริเวณข้อนิ้วมือ อาจก่อให้เกิดข้ออักเสบเรื้อรัง และเกิดการผิดรูปดูคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้

กลับหน้ากรดยูริก