อาการทางระบบไตของโรคเกาต์ อาจแบ่งออกได้เป็น

1 นิ่วกรดยูริก (uric acid stone)

เป็นผลจากการที่กรดยูริกในเลือดมีการกรองผ่านไต และขับออกทางไตมากกว่าปกติ นิ่วกรดยูริกพบได้บ่อยในรายที่มีการขับกรดยูริกออกทางไตมากกว่าวันละ 1000 มก. หรือผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดมากกว่า 13 มก./ดล. ผู้ป่วยโรคเกาต์อาจมีอาการปัสสาวะมีนิ่วนำมาก่อนได้ถึงร้อยละ 40 นิ่วกรดยูริกเป็นนิ่วไม่ทึบแสงจึงมองไม่เห็นทางภาพรังสีธรรมดา อย่างไรก็ตามนิ่วกรดยูริกนี้อาจเป็นจุดให้แคลเซียมมาเกาะ และเมื่อทำการถ่ายภาพรังสีเห็นเป็นนิ่วชนิดทึบแสงได้

2 โรคไตจากผลึกเกลือยูเรต (urate nephropathy)

ผู้ป่วยโรคเก๊าทประมาณร้อยละ30จะเป็นนิ่ว เป็นผลจากการที่มีระดับยูริกสูงเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง (chronic interstitial nephritis) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการในระยะแรก หรือพบว่าความสมารถในการควบคุมความเข้มข้นของปัสสาวะจะเสียไป ทำให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะบ่อยขึ้น การตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติ แต่การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะพบไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะในระยะแรก และอาจพบเม็ดเลือดขาวร่วม และเมื่อเป็นระยะเวลานานจะค่อย ๆ เกิดภาวะไตวายตามมา ถึงแม้โรคไตจากผลึกเกลือยูเรตจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไตวายได้ การศึกษาในอดีตพบว่าภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เกิดภาวะไตวายจากผลึกเกลือยูเรต ยกเว้นในรายที่เป็นโรคเกาต์ และมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น มีภาวะเบาหวาน โรคเส้นโลหิตแข็ง ความดันโลหิตสูง หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดมากกว่า 13 มก./ดล. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่ว่าภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเพียงอย่างเดียวจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางไตได้เปลี่ยนไป เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดในไต ทำให้ความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะไตวายเกิดขึ้น นากจากนี้ยังมีการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่ติดตามผู้ป่วยที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงจะพบอุบัติการณ์ของภาวะไตวาย ความดันโลหิตสูง และอุบัติการณ์ของการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

3 ภาวะไตวายจากผลึกยูริก (acute uric acid nephropathy)

เกิดจากการที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาก และมีการขับออกทางท่อไตอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ผลึกยูริกตกตะกอนในท่อไต และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง และได้รับเคมีบำบัด ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว และมีการปลดปล่อยกรดยูริกออกมามากเช่นกัน หรืออาจพบได้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีการขับกรดยูริกออกทางไตมาก (มากกว่า 800 มก/ดล) และได้รับยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต เป็นต้น กรดยูริกที่หลั่งออกมามากนี้จะตกตะกอนในหลอดไต (ภาวะนี้ต่างจากนิ่วกรดยูริกในไต) ภาวะนี้สามารถป้องกันได้โดยให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำมาก ๆ ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง และให้ยาลดกรดยูริกในกลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase เช่น ยา allopurinol

ในทางภาคเหนือของประเทศไทยพบภาวะไตวายที่พบร่วมกับโรคเกาต์สูงถึงร้อยละ 54 และพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะถึงร้อยละ 32 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิ่วทึบแสง หรือมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ สาเหตุที่ก่อให้เกิดไตวายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เป็นประจำในการรักษาโรคเกาต์ที่ไม่ถูกต้อง

กลับไปหน้ากรดยูริก