3. การลดระดับกรดยูริกในเลือด

ยาที่ใช้ในการลดกรดยูริกในเลือดนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต (uricosuric drugs)
  2. ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (xanthine oxidase inhibitor) และ
  3. ยาวลายกรดยูริก (uricase) แต่ในประเทศไทยขณะนี้มีการใช้แต่เฉพาะยาเร่งการขับกรดยุริกออกทางไต และยายับยั้งการสร้างกรดยูริกเท่านั้น

การตัดสินใจใช้ยาในการรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ได้แก่

  • ความถี่ของข้ออักเสบ
  • ระดับของกรดยูริกในเลือดที่สูง
  • การมีปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะยูริกในเลือดสูงที่สามารถอก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้
  • การมีก้อนโทฟัส
  • และการมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือไตเริ่มทำงานผิดปกติ 
  • นอกจากนี้ยังต้อคำนึงถึงโรคร่วมและยาต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ในขณะนั้น

เนื่องจากการให้ยาลดกรดยุริกนั้นระดับกรดยูริกในเลือดจะลดลงในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ภายหลังการให้ยา แต่การจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการละลายผลึกเกลือยูเรตออกไปจากร่างกายนั้น ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำอยู่ตลอดเวลาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ดังนั้น ปัจจัยเรื่องความร่วมมือในการรักษา (compliance) และความคาดหวังในการมีชีวิตอยู่ (life expectance) จึงควรต้องนำมาคำนึงถึงด้วยเสมอ

เมื่อใดควรจะเริ่มการให้ยาลดกรดยุริกแก่ผู้ป่วย ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่แพทย์ด้วยกัน ในการพิจารณาให้ยาลดกรดยูริกด้วยเหตุผลทางข้ออักเสบนั้น แพทย์บางท่านแนะนำให้ยาลดกรดยูริกในผู้ป่วยโรคเกาต์ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีข้ออักเสบ โดยมีความคิดที่ว่ากว่าผู้ป่วยจะมีโรคข้ออักเสบเก๊าท์นั้น จะมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและมีการตกตะกอนผลึกเกลือยูเรตในร่างกายมาเป็นเวลานานแล้ว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมึความเห็นว่าถึงแม้ว่าจะมีข้ออักเสบภายหลังจากที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นตั้งแต่วัยรุ่นก็จริง แต่ก็พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนถึงร้อยละ 7-25 ที่ไม่มีข้ออักเสบอีกเลย ภายหลังการอักเสบครั้งแรกแม้ติดตามผู้ป่วยไปนานถึง 10 ปี แต่พบว่าถ้าผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์และมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 9.0 มก./ดล. แล้ว การอักเสบกำเริบซ้ำในระยะเวลา 5 ปี จะสูงถึงร้อยละ 22 ส่วนการที่กล่าวว่าผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบกำเริบมากกว่า 2 ครั้งต่อปีควรได้รับยาลดกรดยูริกนั้น เป็นการศึกษาในประเทศแคนาดา โดยดูค่าความคุ้มค่าคุ้มทุนในรายที่ได้รับยาลดกรดยูริกเมื่อมีข้ออักเสบมากกว่า 2 ครั้ง เปรียบเทียบกับการไม่ให้ยาลดกรดยูริก ไม่ได้เป็นการศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพแต่อย่างใด

ส่วนการให้ยาลดกรดยูริกด้วยเหตุผลทางไตที่สำคัญคือ ผู้ป่วยมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะร่วกับมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และมีปริมาณการขับกรดยูริกออกทางไตมากกว่า 1,000 มก./วัน เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะสูงถึงร้อยละ 50 และรายที่เป็นโรคเกาต์ร่วมกับการมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะเกิดขึ้นแล้ว หรือในรายที่เป็นโรคเกาต์และเริ่มมีหน้าที่การทำงานของไตบกพร่อง

การให้ยาลดกรดยูริกเป็นวิธีการลดระดับกรดยูริกในเลือดวิธีเดียวที่ได้ผลอย่างชัดเจน และจะเปลี่ยนการดำเนอนโรคเกาต์ได้อย่างชัดเจนด้วย จุดประสงค์ของการให้ยาลดกรดยูริกก็เพื่อทำให้กรดยูริกในเลือดลดต่ำกว่าจุดอิ่มตัว เพื่อให้ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายละลายออกมา โดยทั่วไปจะต้องปรับยาให้ระดับกรดยูริกในเลือดมีระดับต่ำกว่า 6.0 มก./ดล. (ต่ำกว่าระดับจุดอิ่มตัวของสารละลายกรดยูริก) และในกรณีที่มีก้อนโทฟัสเกิดขึ้นควรให้ระดับกรดยูริกในเลือดมีค่าต่ำกว่า 5.0 มก./ดล. โดยพบว่านอกจากจะป้องกันโรคเกาต์อักเสบกำเริบขึ้นแล้วยังทำให้ผลึกโทฟัสละลายออกจากร่างกาย ทำให้ขนาดก้อนโทฟัสลดลงด้วย อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีอาการรุนแรงมาก และไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาลดกรดยูริกขนานเดียวในขนาดยาเต็มที่แล้ว ในกรณีเช่นนี้อาจพิจารณาใช้ยาลดกรดยูริก 2 ขนานร่วมกัน คือ ทั้งยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต และยายับยั้งการสร้างกรดยุริก เพื่อให้ควบคุมระดับกรดยูริกได้ตามเป้าประสงค์

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์และต้องได้รับยาลดกรดยูริก จำเป็นต้องรักษาภาวะข้ออักเสบกำเริบให้หายสนิทดีก่อนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์จึงเริ่มให้ยาลดกรดยูริก ทั้งนี้เนื่องจากการให้ยาลดกรดยูริกในขณะที่มีข้ออักเสบกำเริบหรือเพิ่งหายจากข้ออักเสบกำเริบใหม่ ๆ จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำลง สามารถกระตุ้นกลไกการอักเสบให้เป็นนานขึ้นกว่าเดิม หรือกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบเป็นกลับซ้ำใหม่ได้ การเริ่มให้ยาลดกรดยูริกต้องเริ่มให้ในขนาดต่ำก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการลดลงของระดับกรดยูริกอย่างรวดเร้ว ซึ่งจะกระตุ้นให้ขออักเสบกำเริบ นอกจากนี้ในรายที่พิจารณาจะให้ยาลดกรดยูริก ควรให้ยาโคลซิซีนขนาดต่ำ ประมาณ 0.6-1.2 มก./วัน ตั้งแต่ระยะที่มีข้ออักเสบเพื่อช่วยควบคุมไม่ให้มีข้ออักเสบกำเริบในช่วงที่ได้รับยาลดกรดยูริก

เมื่อพิจารณาดูจากกลไกการเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงและโรคเกาต์แล้ว จะพบผู้ป่วยโรคเกาต์ชนิดปฐมภูมิส่วนใหญ่จะมีการขับกรดยูริกออกทางไตน้อยกว่าปกติ (underexcertor) และประมาณร้อยละ 10.22 ของผู้ป่วยโรคเกาต์ปฐมภูมิเท่านั้นที่มีการขับกรดยูริกออกทางไตมากกว่าปกติ (hyperexcretor) นั่ยหมายความว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนใหญ่ควรจะได้รับยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไตมากกว่าการได้รับยายับยั้งการสร้างกรดยูริก อย่างไรก็ตามในเวชปฏิบัติแล้วการเลือกใช้ระหว่างยาทั้ง 2 กลุ่ม จะขึ้นกับปัจจัยอื่นอีก เช่น โรคร่วมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ประวัติการแพ้ยา การได้รับยาร่วมบางชนิด เป็นต้น

  1. ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต (uricosuric drugs)
  2. ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (xanthine oxidase inhibitor)
  3. ยาวลายกรดยูริก (uricase)

กลับหน้ากรดยูริก