การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่4

 

ระยะนี้ตัวอ่อนจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเมื่อตอนที่ฝังตัวจะมีลักษณะเหมือนตุ่มพองบนเยื่อบุโพรงมดลูก จนกระทั่งในสัปดาห์ที่สี่จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำAmniotic fluid เกิดขึ้น ภายในถุงน้ำคร่ำจะมีน้ำคร่ำซึ่งทำหน้าที่ป้องกันตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม การกระทบกระเทือน ควบคุมอุณหภูมิให้ตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนสามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ และยังเป็นแหล่งน้ำให้ตัวอ่อนอีกด้วยตัวอ่อนจะฝังตัวที่มดลูกซึ่งมีเยื่อบุมดลูกพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนถุงเล็กๆ อีกอันหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับตัวอ่อนจะเป็นถุงไข่แดงที่เรียกว่า Yolk sac ประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็กๆมากมาย ทำหน้าที่ให้อาหาร กับตัวอ่อนในขณะที่ยังไม่สามารถดูดซึมอาหารเองได้ เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นก็จะเปลี่ยนมาใช้รกในการดูดซึมอาหารจากแม่มาเลี้ยงร่างกายระยะนี้เรียกตัวอ่อนว่า blastocyst บริเวณที่ฝั่งตัวจะเกิดรกระยะนี้ตรวจปัสสาวะจะให้ผลบวกว่าคุณตั้งครรภ์ และเริ่มมีการสร้างฮอร์โมนจากรกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่มีอาการของคนตั้งครรภ์ ระยะนี้คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุเหล็ก และแคลเซี่ยม

ระยะนี้เซลล์ทารกจะมีสามชั้นได้แก่

  • ชั้น ectoderm หรือชั้นนอกเซลล์เหล่านี้จะพัฒนาเป็น ระบบประสาท ผิวหนัง ผม ขน ต่อมน้ำนม ต่อมเหงื่อ ฟัน 
  • ชั้น  mesoderm จะพัฒนาเป็นหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อและกระดูก ระบบขับถ่าย
  • ชั้น endoderm จะพัฒนาเป็นอวัยวะภายใน เช่น ปอด ทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์
สัปดาห์ที่4

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

เมื่อตัวอ่อนฝังตัวจะสร้างฮอรฺโมน (hcg) human chorionic gonadotropin ซึ่งจะทำให้เยื่อบุมดลูกอุดมไปด้วยอาหาร และยังห้ามมิให้ไข่สุก ระยะนี้อาจจะมีเลือดออกเล็กน้อย และอาจจะมีอาการปวดท้องน้อยทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือน ระยะนี้อาจจะตรวจพบการตั้งครรภ์โดยการตรวจ hcg และเริ่มที่จะมีแพ้ท้อง คัดเต้านม ปวดศีรษะ ปวดหลัง อาการต่างๆเหล่านี้จะเหมือนกับอาการก่อนมีประจำเดือน หากท่านมีการขาดประจำเดือน และมีอาการดังกล่าวก็สามารถตรวจปัสสาวะตรวจการตั้งครรภ์

คุณแม่บางท่านมีอาการอยากอาหารมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่อาการที่แน่นอนเสมอไป การอยากอาหารอาจเป็นจากร่างกายกำลังต้องการสารอาหารต่างๆมากขึ้นเพื่อตัวอ่อนในครรภ์ 

  • บริเวณรอบๆหัวนมมีสีเข้มขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และมีอาการเต้านมคัดตึงคล้ายกับก่อนจะมีประจำเดือน แต่จะคัดตึงมากกว่านั้นมาก 
  • อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยในช่วงที่คาดว่าจะมีประจำเดือน เนื่องมาจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก
  • เมื่อตัวอ่อนฝังตัวและเกิดการสร้างฮอร์โมนจากรก Human chorionic gonadotropin ( hCG ) จะทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจต้องลุกไปเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืนบ่อยๆ
  • คุณแม่มักจะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นผลจากระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น อาการคลื่นใส้ อาเจียน จะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห

การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนเลื่อน

  • สำหรับท่านที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หากจะตรวจการตั้งครรภ์ก็ตรวจได้ หากผลลบก็ให้รออีกประมาณ 2 สัปดาห์ค่อยตรวจปัสสาวะซ้ำ
  • หากผลตรวจบวกแสดงว่าตั้งครรภ์ ก้อาจจะรออีกสัก 1 สัปดาห์ค่อยไปฝากครรภ์ แต่ไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์

เมื่อท่านตั้งครรภ์ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง

  • สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หากประสงค์จะออกกำลังกายให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านก่อนการออกกำลังกาย คุณแม่บางท่านอาจออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำเมื่อก่อนตั้งครรภ์ แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็จำเป็นต้องลดการออกกำลังกายลง การออกกำลังกายอย่างเบาๆ สม่ำเสมอในช่วงที่ตั้งครรภ์ แต่จำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสามเดือนแรก และสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การออกกำลังกายมากเกินไปอาจทำให้เกิดการแท้งคุกคามหรือคลอดก่อนกำหนดได้
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี โอกาสแท้งจะสูงกว่าปกติ ดังนั้นการออกกำลังของคุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะสามารถออกกำลังได้แค่ไหนอย่างไร
  • สำหรับท่านที่เคยออกกำลังกายก็สามารถออกกำลังกายต่อได้ (แนวทางการออกกำลังกาย,ผลการออกกำลังกาย,การเลือกวิธีออกำลังกาย)
  • ตรวจสอบยาที่ท่านรับประทานเป็นประจำว่ามีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือทารกหรือไม่
  • ให้รับประทานกรดโฟลิก
  • การพักผ่อน คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนให้มากที่สุดโดยเฉพาะเวลากลางคืน เพราะร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการตั้งครรภ์ออกมาในเวลากลางคืน คุณแม่ควรนอนหลับติดต่อกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และหาเวลางีบหลังจากรับประทานอาหาร
  • คุณแม่ควรรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ และควรเลือกอาหารที่จะรับประทานให้มากยิ่งขึ้น ในหนึ่งวันควรรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ อย่ากลัวอ้วนเพราะลูกจำเป็นต้องใช้อาหารจากคุณแม่ ควรรับประทานอาหารโปรตีนสูง และจำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
  • ควรรับประทานพืชผักผลไม้สดทุกวันจะให้วิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นและยังได้กากอาหารอีกด้วยซึ่งจะช่วยทำให้ท้องไม่ผูก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอและดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว
  • คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่ารับประทานอาหารได้เพียงพอแล้ว คุณแม่จะสังเกตได้จากน้ำหนักตัว น้ำหนักของคุณแม่ควรจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละไม่เกินครึ่งกิโลกรัม คุณแม่อาจชั่งน้ำหนักของตัวเองทุกสัปดาห์และจดบันทึกเอาไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อไปตรวจครรภ์คุณหมอจะให้คุณแม่ชั่งน้ำหนักทุกครั้งเสมอ
  • และเมื่อคุณหมอทำการตรวจ ultrsound ก็จะเห็นปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบตัวทารกว่ามีปริมาณเพียงพอหรือไม่ ก็จะทำให้ทราบได้เช่นเดียวกันว่าคุณแม่รับประทานอาหารได้เพียงพอหรือไม่ เพราะปริมาตรของน้ำคร่ำสัมพันธ์กับการได้รับอาหารของทารก หากทารกได้รับอาหารมากก็จะปัสสาวะออกมามากซึ่งปัสสาวะของทารกก็คือน้ำคร่ำนั่นเอง ดังนั้นอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการตั้งครรภ์ แต่อย่าเครียดกับการบริโภค เพราะอย่าลืมว่าคุณแม่มีคุณหมอคอยดูแลให้อยู่แล้ว หากคุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดคุณแม่และทารกก็จะมีสุขภาพดีทั้งสองฝ่าย

โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ที่พบในระยะการตั้งครรภ์นี้

 แท้งคุกคาม

การมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยอาจเป็นสัญญานของการตั้งครรภ์ เนื่องจากรกมีการฝังตัวเจาะเข้าไปในเส้นเลือดแม่ ทำให้มีเลือดออกในช่วงก่อนหน้าที่คาดว่าจะมีประจำเดือน แต่ไม่ควรจะมีเลือดออกอีก หากมีเลือดออกอาจหมายถึงว่า

  • มีการฉีกขาดของเส้นเลือดที่เชื่อมต่อถึงกัน ระหว่างแม่กับลูกจากการกระทบกระเทือน
  • หรือมีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่จากการที่มีฮอร์โมนช่วยในการตั้งครรภ์ไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้จะทำให้มีเลือดออกและมีการแท้งตามมา

การที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ก็จะช่วยป้องกันได้อีกทาง เพราะคุณหมอจะให้ยาฮอร์โมนเสริมในกรณีที่คุณแม่มีฮอร์โมนน้อย แต่ถ้าการมีเลือดออกได้เกิดขึ้นแล้วให้คุณแม่สังเกตสี ปริมาณ และอาการที่เกิดขึ้น ควรจะไปพบแพทย์เมื่อ

  • มีเลือดออกเป็นสีแดงสด และมีปริมาณมากไหลออกมาทางช่องคลอด
  • และคุณแม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วยคุณแม่ต้องรีบโทรหาคุณหมอหรือไปโรงพยาบาลทันที การแท้ง

อารมณ์แปรปรวน

คุณแม่อาจค้นพบว่าตัวเองมีอารมณ์อ่อนไหวแปรปรวน กังวล ซึมเศร้า สับสน หรือกลัว เนื่องจากการแปรปรวนของระดับฮอร์โมน คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ เพียงแต่ให้คุณแม่รับทราบเอาไว้ว่ามันอาจเกิดขึ้นแต่เป็นเรื่องปกติ

การตรวจต่างๆ

การตรวจในระยะนี้จะเป็นการตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ที่นิยมตรวจได้แก่การตรวจปัสสาวะซึ่งระดับฮอร์โมนอาจจะสูงไม่พอทำให้ตรวจไม่พบ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมน hcg ซึ่งนอกจากจะบอกการตั้งครรภ์ยังสามารถประเมินอายุครรภ์ได้ด้วย อ่านเรื่องการตรวจฮอร์โมน hcg

การตรวจความดันโลหิต

การตรวจความดันโลหิตจะทำทุกครั้งที่คุณแม่มาตรวจครรภ์ การวัดความดันโลหิตมีความสำคัญ เนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์คือครรภ์เป็นพิษซึ่งจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

การชั่งน้ำหนัก

การชั่งน้ำหนักมักชั่งทุกครั้งที่คุณแม่มารับการตรวจครรภ์ เพื่อตรวจการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักอย่างปกติ ซึ่งคุณแม่ไม่ควรกังวลกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของน้ำหนักมากเกินไป ปล่อยให้คุณหมอเป็นผู้ดูแลให้จะดีกว่า

การตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ไตรมาส1 เดือนที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่3 การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่5

 

เพิ่มเพื่อน