การดูแลตนเองเมื่อเป็นริดสีดวงทวาร

การปฏิบัติตัว

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ใส่ยาทาบริเวณก้น/บริเวณริดสีดวง หรือ เหน็บยาตามแพทย์แนะนำ
  • กินยาต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดตามแพทย์แนะนำ
  • ไม่ควรนั่ง หรือ ยืนนานๆ รวมทั้งนั่งส้วมนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ
  • ลดความอ้วน
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ
  • พบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเสมอเมื่อ เลือดออกทางก้นไม่หยุด หรือ เมื่อก้อนเนื้อไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารได้ อย่าพยายามออกแรงดันก้อนเนื้อ เพราะจะทำให้ก้อนเนื้อได้รับบาดเจ็บและบวมมากขึ้น
  • เมื่อเลือดออกมาก ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นไว้ให้แน่น ถ้าเลือดไม่หยุด ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน

การดูแลเรื่องอาหาร

  • กินผัก ผลไม้ชนิดมีกากใยสูงมากๆ เช่น ฝรั่ง แอบเปิล มะละกอสุก เพื่อป้องกันท้องผูก
  • ฝึกอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น หัวใจล้มเหลว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และขับถ่ายออกได้ง่าย


การดูแลเรื่องการขับถ่าย

  • หากมีอาการปวดให้นั่งแช่น้ำอุ่นเสมอ อาจเป็นเพียงน้ำอุ่นธรรมดา หรือ น้ำด่างทับทิมอุ่น ครั้งละ 10-15 นาที่ วันละประมาณ 2-3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และอาการบวมได้ดี
  • เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งอาจช่วยลดบวมได้
  • ล้างบริเวณก้นด้วยน้ำอุ่น หรือ น้ำสะอาด รักษาให้สะอาดเสมอ โดยใช้สบู่ เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่กำลังบวม หรือมีการอักเสบ
  • เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระที่แข็ง ควรชุบน้ำ หรือ ใช้กระดาษชำระชนิดเปียก
  • พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ

การป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

วิธีป้องกันริดสีดวงทวาร คือ วิธีการเดียวกับในการดูแลตนเอง ที่สำคัญ ได้แก่

  • ป้องกันท้องผูกด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง
  • ไม่นั่ง ยืนนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ และไม่เบ่งอุจจาระ
  • ลดความอ้วน

การรักษา Management

  • สิ่งที่สำคัญในการดูแล คือ การแยกโรคออกจากโรคร้ายแรงกว่าอื่น ๆ
  • การให้ความเข้าใจโรค
  • การปรับการกินอาหารโดยเน้นอาหารที่มีใยสูง
  • และการแนะนำเกี่ยวกับสุขลักษณะของการถ่ายอุจจาระที่ดี (หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระแรงและนาน ๆ)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ต้องการการรักษาเพิ่มเติมใด ๆ การใช้ยาทาเป็นที่นิยมกันมาก แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีประโยชน์ในการรักษาจริง

ผู้ป่วยขั้นที่หนึ่ง และสองที่มีอาการมาก การรักษาที่เหมาะสม คือการทำ sclerotherapy หรือ rubber ligation

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่

  • ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้เพราะกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เหล่านี้ มีหน้าที่ช่วยการปิดตัวของหูรูดปากทวารหนักในภาวะไม่อุจจาระ เมื่อเกิดหลอดเลือดโป่งพอง หูรูดปากทวารหนักจึงปิดไม่สนิท จึงเกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่
  • ภาวะซีด เมื่อมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเรื้อรัง หรือบางครั้งเลือด ออกมากและไม่สามารถหยุดเองได้ ต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
  • การติดเชื้อ อาจเกิดเป็นฝี หรือหนองในบริเวณก้นได้
  • เมื่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกนอกทวารหนักในระดับ 4 ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดขาดเลือด เกิดการเน่าตายของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ ปวดอย่างมาก ซึ่งจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ เช่นกัน

โรคริดสีดวง | การดูแลตัวเอง | การรักษาโรคริดสีดวง | การรักษาโรคริดสีดวงที่มีโรคแทรกซ้อน