โรคดีซ่าน ตาเหลือง Jaundice
โรคดีซ่านเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อาการตาเหลืองตัวเหลืองนี้เป็นเพียงอาการของโรค แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดจากอะไร ดีซ่านมีกลไกเกิดจาก มีปริมาณสาร บิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งมีสีเหลือง ในเลือดสูงเกินปกติมาก สารบิลิรูบินในเลือด จะเป็นสารบิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำ (Unconjugated bilirubin) แต่เมื่อผ่านเข้าไปในตับ ตับจะสังเคราะห์ให้บิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำนี้ เปลี่ยนเป็นบิลิรูบินที่ละลายน้ำ(Conjugated bilirubin) และตับขับสารนี้ออกจากร่างกายโดยปนมากับน้ำดี (Bile) ที่ขับออกทางท่อน้ำดี และผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และถูกขับออกโดยปนมากับอุจจาระ สีเหลืองของอุจจาระจึงเป็นสีที่ได้จาก บิลิรูบิน เมื่อเลือดมีสารบิลิรูบินสูงมากกว่าปกติมาก สารบิลิรูบินจะเข้าไปจับในเนื้อเยื่อต่างๆ ก่อเกิดมีสีเหลืองขึ้นตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย จะเหลืองมากหรือน้อย ขึ้นกับปริมาณบิลิรูบินในเลือด ซึ่งการมีสีเหลืองผิดปกติทั่วร่างกาย เรียกว่า โรคหรืออาการดีซ่าน บริเวณที่เราพบได้บ่อยได้แก่ บริเวณผิวหนังทั่วตัว ตาขาว
สาเหตุของดีซ่าน
ที่พบบ่อยได้แก่ โรคของระบบน้ำดี โรคตับอักเสบ โรคไข้ทัยฟอยด์ โรคมาลาเรีย โรคตับแข็งจากพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งในตับ และโรคเลือดอีกหลายอย่างก็อาจทำให้เป็นดีซ่าน
เนื่องจากอาการดีซ่านมีสาเหตุได้มากมายการวินิจฉัยโรคจะต้องอาศัย ประวัติครอบครัวว่ามีโรคประจำครอบครัวหรือไม่ เช่นโรคเลือด ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร การตรวจร่างกายคนไข้ และตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ รวมทั้งถ่ายเอ๊กซเรย์พิเศษบางอย่าง
สาเหตุของดีซ่าน
- โรคติดเชื้อของตับ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิดทั้งเอ บี และซี โรคฉี่หนู
- โรคติดเชื้อ เช่น ไข้มาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น) ซึ่งเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก
- โรคตับอักเสบจากยาบางชนิด เช่น จากยาบางชนิดในการรักษา วัณโรค ยาปฏิชีวนะ บางชนิด
- โรคตับอักเสบจาก โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง)
- โรคจากมีการอุดตันทางเดินน้ำดี น้ำดีเช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับอ่อน
- โรคเลือดบางชนิด เช่น โรคจีซิกพีดี (G6PD) และ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
การวินิจฉัยโรคดีซ่าน
จึงมักเป็นเรื่องยากและเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น ท่านไม่ควรวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของดีซ่าน หรือรักษาตัวเอง เพราะมีอันตรายกับคนไข้ได้มาก ในแง่ของการรักษาโรคนี้ จึงไม่เหมือนกับโรคปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งอาจจะลองกินยาแก้ปวดดูก็ได้อาจหายเอง
อาการอื่นที่อาจจะพบร่วมกับอาการดีซ่าน
อาการอื่นๆที่พบร่วมกับอาการดีซ่านมีความสำคัญพอๆกับอาการดีซ่าน เช่น
ฝ่ามือมีสีเหลือง |
ปัสสาวะเข้ม |
- อาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดบริเวณชายโครงด้านขวาซึ่งจะเป็นอาการของมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน
- มีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น คันตามตัว เกิดจากติดเชื้อ โรคไข้จับสั่น หรือ โรคฉี่หนู
- มีไข้คลื่นไส้อาเจียน เจ็บชายโครงบ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคตับ
- ท้องบวม(ท้องมาน) ขาบวม น้ำหนักลดเป็นต้น ซึ่งอาจจะเกิดจากตับแข็ง
- อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายซึ่งเกิดจากโลหิตจางในผู้ป่วยโรคเลือด
- อาการร่วมเช่นนี้ อาจพบเพียงอย่างเดียว สองอย่าง หลายๆ อย่าง หรืออาจมีอาการอื่นๆร่วมได้อีกแตกต่างกันเป็นรายๆ ไป
การรักษาโรคดีซ่าน
การรักษาโรคดีซ่านขึ้นกับสาเหตุของโรค บางโรคก็รักษาได้ บางโรคก็รักษาไม่ได้
- เช่นแพ้ยาเมื่อให้หยุดยาอาการก็ดีขึ้น
- หากดีซ่านเกิดจากโรคมาราเรียเมื่อรักษามาราเรียอาการก็ดีขึ้น
- สำหรับดีซ่านที่เกิดจากโรคตับอักเสบเมื่อการอักเสบดีขึ้นอาการดีซ่านก็จะหาย
- สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งมักจะไม่หาย
- ผู้ป่วยตับแข็งมักจะมีอาการแย่ลง
- สำหรับผู้ป่วยดีซ่านที่เกิดจากการอุดตันท่อน้ำดี เมื่อผ่าตัดหรือได้แก้ไขอาการอุดตันอาการดีซ่านจะดีขึ้น แต่หากสาเหตุอุดตันแก้ไขไม่ได้เช่นมะเร็ง อาการดีซ่านก้ไม่หาย
การดูแลตัวเองมีอาการดีซ่าน
- เมื่อท่านพบว่าตัวเองตาเหลืองตัวเหลืองควรที่จะรีบพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรรอดูอาการเพราะอาจจะทำให้โรคลุกลาม เช่นหากตัวเหลืองตาเหลืองเกิดจากแพ้ยา เมื่อหยุดยาอาการก็จะดีขึ้น
- ช่วงที่มีอาการดีซ่านควรพักผ่อนร่างกายให้มากที่สุด งดออกกำลังกาย หยุดทำงาน หยุดเที่ยวเตร่ ก็ควรให้พักผ่อนอยู่กับบ้านเฉยๆ เพื่อลดการอักเสบของตับ หรือ อวัยวะอื่นที่เป็นสาเหตุของดีซ่านในผู้ป่วยนั้น ไม่ควรจะซื้อยารับประทานเอง
- พยายามเลี่ยงอาหารประเภทที่ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ เช่น อาหารมันๆ
- ผู้ป่วยที่มีท้องบวม (ท้องมาน) และเท้าบวมร่วมด้วย ไม่ควรให้กินของเค็มเช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ของเผ็ดและเครื่องเทศ ฯลฯเพราะจะทำให้บวมมากขึ้น ควรให้กินอาหารทุกประเภททั้งผัก เนื้อ ผลไม้ ขนมหวาน เพื่อซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย
- งดดื่ม สุรา เบียร์ และของมึนเมาทุกชนิดโดยเด็ดขาด เพราะสุราทำลายตับ หากผู้ป่วยยังดื่มสุราต่อไปอาจทำให้ตับทรุดเป็นอันตรายมาขึ้นอีกได้
- อย่าซื้อยาให้ผู้ป่วยกินเองเพราะยาหลายชนิด รบกวนการทำงานของตับ หากไม่ทราบผลเสียของยาแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก
- ห้ามฉีดยาเอง การฉีดยาในผู้ป่วยดีซ่านต้องระวังมากหากไม่จำเป็นจริงๆ แล้วไม่ควรทำ เพราะนอกจากผลเสียที่อาจมีต่อตับแล้ว ยังอาจเกิดการติดเชื้อโรค หรือเลือดออกในบริเวณที่ฉีดยาได้ง่าย การให้น้ำเกลือก็ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น หากให้น้ำเกลือผิดชนิดหรือผิดปริมาณอาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วยเช่นอาการบวม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย สารคัดหลั่ง เช่นน้ำลาย อุจาระ เพราะอาจจะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรรักษาอนามัยด้านการขับถ่ายอย่างดี อุจจาระ ปัสสาวะของผู้ป่วยควรได้รับการกำจัดอย่างสะอาด เข้าส้วมควรล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง การปรุงอาหารก็ต้องระวังความสะอาด
- ผู้ป่วยดีซานไม่ควรกินอาหารปะปนกับบุคคลอื่นในบ้าน เพราะโรคดีซ่าน บางชนิดอาจติดต่อได้ทางอาหารเช่นตับอักเสบ
- ผู้ที่ป่วยเป็นดีซ่านหรือเคยเป็นมาแล้วในอดีตไม่ควรบริจาคโลหิตเป็นอันขาด โรคไวรัส ซึ่งอาจอยู่ในร่างกายต่อไปได้อีกหลายปี และอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้
การป้องกันโรคดีซ่าน
การป้องกันสาเหตุที่เกิดดีซ่านเช่น
- เมื่อเข้าป่าต้องป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียโดยการป้องกันยุงกัด เมื่อต้องย่ำน้ำต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
- รักษาสุขอนามัยเป็นอย่างดี เช่น รับประทานอาหารที่ร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ล้างมือโดยการฟอกสบู่หลังจากเข้าห้องน้ำ
- ไม่ซื้อยาทั้งยาปัจจุบันหรือสมุนไพร เพราะอาจจะทำให้เกิดดีซ่านทั้งจากแพ้ยา หรือยาทำให้เม็ดเลือดแดงแตก