ต่อมทอนซิลอักเสบ tonsillitis เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ


ต่อมทอนซิล tonsils คืออะไร

หากเราอ้าปากส่องกระจกดูตรงคนลิ้นจะพบเนื้อเยื่ออยู่ข้างๆบริเวณโคนลิ้น คืิต่อมทอนซิล สำหรับคนที่ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยจะพบว่าต่อมทอนซิลโต ต่อมทอนซิลเป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทต่อมน้ำเหลือง ภายในต่อม มีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด มีหน้าที่หลักคือ

  • การจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางทางเดินอาหาร  
  • หน้าที่รองลงมาคือ สร้างภูมิคุ้มกัน

ต่อมทอนซิลมีอยู่กี่ตำแหน่ง

ต่อมทอนซิลในคนคอมีอยู่ 3 ตำแหน่งคือ

  • จะอยู่ด้านข้างของช่องปากเรียกว่าพาลาทีนทอนซิล (palatine tonsil)  
  • ต่อมทอนซิลที่โคนลิ้น (lingual tonsil)
  • ต่อมทอนซิลที่ช่องหลังโพรงจมูก (adenoid tonsil)คือ

ต่อมทอนซิล

ต่อมทอนซิลอักเสบ Tonsillitis

ต่อมทอนซิลอักเสบหมายถึงมีการอักเสบของต่อมทอนซิล ซึ่งอาจจะกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การอักเสบอาจจะลามไปถึงที่โคนลิ้น และที่ด้านหลังโพรงจมูก และอาจจะลามยังเนื้อเยื่อที่ด้านหลังของคอที่เรียกว่าคออักเสบ Pharyngitis

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบ

อาการต่อมทอนซิลอักเสบ จะมีลักษณะคล้ายโรคลำคออักเสบทั่วไป คือ

  • มีอาการเจ็บคอ อาการเจ็บคอจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง โดยมากจะเจ็บมากว่า 48 ชั่วโมง
  • กลืนอาหารลำบากโดยเฉพาะ เวลากลืนอาหารจะเจ็บมาก สำหรับเด็กจะมีอาการน้ำลายไหลเนื่องจากกลืนลำบาก
  • มีอาการไข้ หนาวสั่น ไข้จะสูงหรือไข้ต่ำๆขึ้นกับสภาพผู้ป่วย เชื้อที่เป็นสาเหตุหากเป็นเชื้อแบคทีเรียจะมีไข้สูง หากเป็นไวรัสไข้จะสูงไม่มาก
  • หากต่อมอักเสบเฉียบพลันจะมีไข้สูง หากต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังไข้จะต่ำๆ
  • คัดจมูก มีน้ำมูกแต่ไม่มาก น้ำมูกมักใส
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเจ็บหูเพราะการอักเสบของต่อมทอนซิลอาจจะส่งผลถึงการอักเสบของหู
  • อาจจะมีอาการอาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าลำคอส่วนบน โตทั้งสองข้าง
  •  มีกลิ่นปาก

เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบเมื่อไรต้องพบแพทย์

โรคต่อมทอนซิลอักเสบส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและเกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้ปรึกษาแพทย์

  • มีอาการมากกว่า 4 วันโดยที่อาการไม่ดีขึ้นเลย
  • มีอาการรุนแรงเช่นรับประทานหรือดื่มน้ำไม่ได้เนื่องจากอาการปวด หรือหายใจลำบาก
  • ไข้สูง
  • มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล
  • ต่อมน้ำเหลืองโตและกดเจ็บ

โรคต่อมทอนซิลอักเสบควรจะพบแพทย์เมื่อ

  • มีไข้มากกว่า 101°F  ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต เพราะมักเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งไม่สามารถรักษาหายได้จากการดูแลตนเอง
  • เมื่อมีต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว เพราะอาจเป็นอาการจากโรคมะเร็งได้ ดังกล่าวแล้ว
  • ต่อมทอนซิลเป็นหนอง
  • เมื่อดูแลตนเองแล้ว ไข้ไม่ลงภายใน 2-3 วัน
  • หายใจลำบาก
  • กินอาหาร หรือ ดื่มน้ำได้น้อยจากเจ็บคอมาก ในเด็กเล็กอาจกลืน น้ำลายไม่ได้ น้ำลายไหลมาก
  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ ไม่ดีขึ้น ภายหลังการดูแลตนเอง 1-2 วัน
  • มีหนองที่คอ
  • กลืนหรือหายใจลำบาก
  • มีการเปลี่ยนแปลงของเสียง

สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบ

เมื่อร่างกายติดเชื้อจากผู้อื่นทำให้เชื้อในคอมีปริมาณมาก ต่อมทอนซิลซึ่งมีหน้าที่กรองเชื้อจะบวม แดง โตและเจ็บเกิดภาวะที่เรียกว่าต่อมทอนซิลอักเสบ tonsillitis สาเหตุขึ้นกับอายุ เด็กโตหรือผู้ใหญ่จะเกิดจากเชื้อที่เรียกว่า Streptococcus ส่วนเด็กมักจะเกิดจากเชื้อไวรัส

การวินิจฉัยต่อมทอนซิลอักเสบ

การวินิจฉัยไม่ยากแพทย์จะให้ผู้ป่วยอ้าปากและตรวจต่อมทอนซิลในปาก

  • พบว่าต่อมทอนซิลโต แดง และอาจจะมีจุดหนองที่ทอนซิล
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้คางและคอโต กดเจ็บ
  • หากมีไข้สูง หรือมีจุดหนองที่ต่อมทอนซิลแพทย์จะเจาะเลือดหรือน้ำจุดหนองไปเพาะหาเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

ถ้าอาการอักเสบไม่มาก เจ็บคอเล็กน้อย  ไม่มีไข้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยให้พักผ่อนมากขึ้น ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ ถ้าร่างกายสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ภายใน2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการมาก ควรมาพบแพทย์ หากตรวจพบอาการอักเสบค่อนข้างรุนแรง มักจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่นๆ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นในช่วง 3-7 วัน

การรักษาทั่วไป

  • หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือไข้ลงอย่างน้อย 1 วันเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
  • ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอุ่นสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด หรือรสจัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอน้ำเกลือ  หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว
  • แยกของใช้ส่วนตัวเช่นแก้ว จาน ชาม ช้อน ควรใช้ช้อนกลาง
  • กินยาลดไข้ ควรเป็นยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินแอสไพริน เพราะอาจเกิดแพ้ยาแอสไพรินได้และเกิดโรคที่เรียกว่า Reye syndrome.
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาดช่องปาก และเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น
  • อมยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ซื้อยาอมได้เองตามร้านขายยาทั่วไป
  • หลังได้รับยาปฏิชีวนะแล้ว 24 ชั่วโมงก็สามารถกลับไปสู่โรงเรียนหรือทำงานได้เนื่องจากจะไม่ติดต่อ

การรักษาด้วยยา

  • ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • ยาลดน้ำมูก
  • หรือลดไข้
  • ให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบ ถ้าสงสัยว่าต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยให้ยากลุ่ม ยาในกลุ่มเพนนิซิลิน ควรรับประทานยาดังกล่าวให้นานพอ เช่น 7-10 วัน 
  • ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอมาก ไข้สูง รับประทานอาหารไม่ได้  แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลา ดีขึ้นเร็วกว่า
  • การให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน  หากแพทย์พิจารณาว่า มีสาเหตุมาจากไวรัส ก็จะให้ยาตามอาการเท่านั้น เพราะยาต้านจุลชีพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

หลังการรักษาอาการควรจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ สำหรับเด็กควรจะได้รับยาปฏิชีวนะครบ 24 ชั่วโมงจึงให้ไปโรงเรียนเพื่อลดการแพร่กระจาย

โรคแทรกซ้อนของต่อมทอนซิลอักเสบ

  • เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบบางชนิดเป็นเชื้อที่รุนแรง อาจทำให้เกิดหนองรอบๆทอนซิลจนเกิดเป็นหนอง บริเวณรอบต่อมทอนซิล (peritonsillar abscess)
  • โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของโรคหัวใจ และโรคไตได
  • Rheumatic fever 
  • ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบบ่อยๆขนาดของทอนซิลจะโต ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ สังเกตได้จากขณะนอนหลับ ผู้ป่วยมักจะกรนดัง หรือสะดุ้งตื่นบ่อยๆ โดยเฉพาะในเด็ก
  • ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา การอักเสบของต่อมทอนซิลอาจลุกลาม ผ่านช่องคอ เข้าสู่ช่องปอด และหัวใจได้  นอกจากนั้น เชื้อแบคทีเรีย อาจเข้ากระแสเลือด แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

เมื่อไรจึงจะต้องให้ยาปฏิชีวนะ

ผู้ป่วยที่ต่อมทอนวิลอักเสบส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะแม้ว่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากอาการไม่มากภูมิของร่างกายก็จะจัดการฆ่าเชื้อ จะต้องรีบให้ยาปฏิชีวนะในรายดังต่อไปนี้

  • อาการรุนแรง ไข้สูง เจ็บคอมาก
  • เป็นมาแล้ว 2-3 วันยังไม่ดีขึ้น
  • มีโรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิไม่ดีเช่น ผู้ที่ตัดม้าม ได้รับเคมีบำบัดเป็นต้น

 ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด

ต่อมทอนซิลมีหน้าที่กรองเชื้อโรคไม่ให้ลุกลามเข้าไปในร่างกายดังที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ตัดทิ้ง แต่หาก ในกรณีทีมีการอักเสบรุนแรง หรืออันตรายจากทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยควรได้รับการตัดต่อมทอนซิลออก ได้แก่

  1. ทอนซิลที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน
  2. เคยมีภาวะหนองที่ข้างทอนซิล (Peritonsillar  abscess) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  3. มีกลิ่นปากจากทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
  4. ทอนซิลอักเสบชนิดสเตรปโตคอคคัส และทอนซิลที่โตข้างเดียวที่อาจเป็นมะเร็งได้
  5. เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบ มีอาการอักเสบบ่อยมากกว่า 6-7 ครั้งใน 1 ปี หลายปีติดต่อกัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่นต้องขาดงาน หรือขาดเรียนบ่อย
  6. เมื่อต่อมทอนซิลโตมากๆ ทำให้เกิดอุดกั้นทางเดินหายใจ และมีอาการนอนกรน และ/ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับตามมา
  7. ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่า อาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล

เพิ่มเพื่อน