เผยพบไข้หวัดนกที่นครพนมเป็นไวรัสที่ไม่เคยพบในไทย!!!

 

โดย ผู้จัดการออนไลน์

16 สิงหาคม 2549 19:32 น.

เผยผลวิจัยพันธุกรรมไข้หวัดนกในรอบที่ 4 พบเชื้อที่นครพนมเป็นเชื้อที่ไม่เคยพบในประเทศ โดยเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แต่บอกไม่ได้ว่ามาอย่างไร กระทบการผลิตวัคซีน หากมีเชื้อ 2 ชนิดต้องผลิตวัคซีนโดยผสมทั้ง 2 ชนิด ขณะที่ยังไม่พบการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญว่าจะสามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้ ห่วงเจ้าหน้าที่ใช้ยาทามิฟลูอาจทำให้ไวรัสดื้อยา ด้านปศุสัตว์เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกยิ่งขึ้น ขณะที่อาจมีการทดลองวัคซีนหวัดนกเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยและป้องกันโรคไข้หวัดนก แถลงผลการศึกษารหัสพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดนกในการระบาดรอบที่ 4 ที่จังหวัดพิจิตร และนครพนม ว่า จากการวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดนกที่พบในปีนี้ทั้ง 2 แห่ง พบว่า เชื้อที่จังหวัดพิจิตรเป็นเชื้อชนิดเดิมที่เคยพบในประเทศไทย และเวียดนามอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2547 แต่เชื้อที่นครพนมเป็นเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบเชื้อแตกต่างจากเดิมที่เคยพบในประเทศไทย แต่ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร

“ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ผมมิอาจตอบได้ แต่เรารู้ว่าเชื้อที่นครพนมไม่ได้เกิดจากเชื้อที่ภาคกลาง ซึ่งปี 2547 กับปี 2548 ไม่ว่าเชื้อจากไทย เวียดนาม หรือมาเลเซีย เป็นเชื้อในกลุ่มเดียวกันหมด แต่พอมาปี 2549 นี้ เชื้อในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มแล้ว” ศ.นพ.ยง ระบุ และว่า องค์ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมเส้นทางของโรค เพราะจะทราบต้นตอของเชื้อได้
สำหรับเชื้อไข้หวัดนกในโลกปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่พบในมณฑลจิงไห่ (Qing Hai) ประเทศจีน สายพันธุ์ที่พบในไทย และเวียดนาม สายพันธุ์ที่พบในอินโดนีเซีย และสายพันธุ์ที่พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีรายงานระบุว่า เชื้อไข้หวัดนกที่พบในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกานั้น เป็นสายพันธุ์ที่พบในมณฑลจิงไห่ ทำให้ยืนยันว่าไข้หวัดนกในแถบนั้นไม่ได้ติดเชื้อไปจากประเทศไทย

ศ.นพ.ยง เปิดเผยผลการวิจัยอีกว่า จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดนกที่พบในประเทศไทย ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญว่าจะเกิดการติดต่อของเชื้อจากคนสู่คนได้

“ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2549 เราถอดรหัสไปแล้วกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งทำให้เปรียบเทียบได้ตั้งแต่ต้นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงยังไม่มีนัยสำคัญที่จะให้เกิดการติดต่อระหว่างคนสู่คน บางคนบอกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ที่จุดสำคัญเลย แต่เป็นหน้าที่ของเราหากพบการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เป็นนัยสำคัญ เราจะต้องรีบแจ้งเตือนและยับยั้งให้อยู่” ศ.นพ.ยง กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วง ว่า การที่เจ้าหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกต้องใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลูก่อนเข้าไปทำลายสัตว์ จะมีโอกาสให้เชื้อเข้ามาสู่บุคคลนั้นและดื้อยาได้ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและทำลายเชื้อนั้นให้หมด ไม่ทิ้งสายพันธุ์ที่ดื้อยาเอาไว้ เพราะจะสร้างปัญหากับผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ดื้อยา แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบว่าเชื้อไข้หวัดนกดื้อยาทามิฟลูแต่อย่างใด

สำหรับการพัฒนาวัคซีนนั้น ศ.นพ.ยง ระบุว่า จะต้องเป็นวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่จึงจะได้ผลสูง แต่ถ้าใช้ในสายพันธุ์ไม่ตรงผลที่ได้ก็จะด้อยลงไป ดังนั้น หากต่อไปเชื้อไข้หวัดนกมีการระบาดทั้ง 2 ชนิด การผลิตวัคซีนก็ต้องใช้ไวรัส 2 ชนิดเช่นกัน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไข้หวัดนก จึงได้ใช้มาตรการจัดแบ่งเขตการเลี้ยง (โซนนิง) เป็น 5 เขต รวมทั้งเข้มงวดในการควบคุมการเคลื่อนย้าย และต่อไปจะเข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนที่ จ.นครพนม ได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบการระบาดแต่อย่างใด ทั้งนี้ สามารถคาดการณ์ที่มาของเชื้อไข้หวัดนกที่นครพนมได้ว่า มาจาก 3 แหล่ง คือ การเคลื่อนย้ายของสัตว์ หรือคน เชื้อที่มากับนกธรรมชาติ และเชื้อจากพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน

ด้าน น.สพ.พรชัย ชำนาญพูด ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนไข้หวัดนกในสัตว์ปีก มีความก้าวหน้า คาดว่า จะสามารถผลิตวัคซีนมาทดลองใช้เป็นการภายในได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และหากสำเร็จก็จะผลิตจำนวนมากเพื่อใช้ในประเทศต่อไป