การติดเชื้อรา
การติดเชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากเชื้อราลุกลามเข้าเซลล์ผิวโดยเฉพาะเซฃลล์ที่ตาย เช่น เล็บ หนังกำพร้า ผม เชื้อที่เป็นสาเหตุได้แก่ Microsporum,Trichophyton,Epidermophyton โรคเชื้อราจะพบได้ทั่วโลกขึ้นกับชนิดของเชื้อรา อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ สุขภาพ สุขอนามัย ผื่นจะมีลักษณะของการมีขุย ผื่นสีแดง ขอบอาจจะชัดหรือไม่ชัด กลมหรือรี ให้นึกถึงโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคผื่นแพ้ eczema และเชื้อรา ดังนั้นควรจะขุดขุยเพื่อหาเชื้อรา
เชื้อราสามารถเกิดที่ไหนก็ได้ของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ
ตำแหน่งที่พบว่าติดเชื้อราได้ง่ายได้แก่ บริเวณที่มีเหงื่อออกมาก การระบายอากาศไม่ดี
ชนิดของกลาก
- กลากตามบริเวณผิวหนังเช่น ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ฝ่าเท้า และบริเวณขาหนีบ ผื่นจะเริ่มจากการเป็นตุ่มแดง และขยายวงกว้างขึ้น ขอบจะมีลักษณะนูนแดง มีขุยขาวๆที่ขอบของผื่น มักจะมีอาการคันมาก ผื่นที่ฝ่าเท้าและง่ามนิ้วเท้าเรียก ฮ่องกงฟุต ผิวหนังจะเป็นแผ่นขาวยุ่ยๆ ลอกออกได้ หรืออาจจะเป็นสะเก็ด มีกลิ่นและคันมาก
- กลากที่เล็บมักจะเป็นเรื้อรัง อาจจะไม่มีอาการคัน หรือเจ็บ มักจะเกิดที่ปลายเล็บ หรือด้านข้างของเล็บก่อน เล็บจะกลายเป็นสีน้ำตาล ขาวขุ่น มีลักษณะขรุขระ เปื่อยยุ่ย และตัวเล็บอาจจะแยกจากหนังใตเล็บ
- กลากที่ศรีษะ ส่วนมากเป็นในเด็ก ติดต่อกันได้ง่าย ลักษณะที่พบคือ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เส้นผมหักเป็นจุดดำๆ หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงเป็นสะเก็ด ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีตุ่มหนองรอบรูขุมขน และลุกลามกลายเป็นก้อนนูนมีน้ำเหลืองแห้งกรังเรียกว่า ชันนะตุ
อาการของโรคเชื้อราที่ผิวหนัง
อาการของโรคขึ้นกับตัวเชื้อโรค และตำแหน่งที่พบ โดยทั่วไปจะมีผื่น และอาการคัน ผื่นที่พบจะเป็นผื่นแดง มีขุย มีขอบนูนเล็กน้อย ส่วนเชื้อราที่ศีรษะ หรือนวดก็จะมีอาการผมร่วงด้วย
การติดต่อ
สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการสัมผัสโดยตรง หรือเครื่องใช้ เช่นเสื้อผ้า หรือการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว จากสระว่าน้ำ ห้องน้ำ ฝักบัว
ปัจจัยความเสี่ยงของการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อราได้แก่
- ได้รับยาปฏิชีวนะประจำ
- รับประทานยา steroid
- เป็นเบาหวาน
- อ้วน
- เคยติดเชื้อรามาก่อน
- มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การป้องกัน
- ห้ามใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่น หวี หมวก รองเท้า ผ้าเช็ดตัว
- รักษาความสะอาดบริเวณที่อับเช่น ซอกรักแร้ ซอกขาหนีบ ซอกนิ้ว อาบน้ำเสร็จซับให้แห้งและโรยแป้ง
- หมั่นตรวจรองเท้าอย่าให้แคบเกินไป
- เปลี่ยนรองเท้าทุก2-3 วันเพื่อให้รองเท้าแห้ง
- หลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเป็นผ้าแห้ง
- ใส่รองเท้าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่นสระว่ายน้ำ
- รักษาความสะอาดของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์
- หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค
- ให้รีบรักษาผู้ที่ป่วยด้วยยาที่เหมาะสม
การปฏิบัติตนเมื่อเป็นกลากเกลื้อน
- รักษาความสะอาดของร่างกายให้ทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอ อาบน้ำฟอกสบู่ และเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ ซอกนิ้ว
- ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น หมั่นล้างมือให้สะอาด และอย่าเกาเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- ป้องกันการติดเชื้อ โดยการแยกเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ส่วนตัวไม่ใช้ปะปนกัน และควรซักทำความสะอาดตากแดดให้แห้งทุกครั้ง
- ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคควรได้รับการตรวจจากแพทย์
- การรักษาด้วยยาทาเชื้อราที่ผิวหนัง โดยทั่วไปจะทาวันละ 2-3 ครั้ง ทาติดต่อกันจนกว่าผื่นจะหาย โดยทายาที่ผื่น และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ หลังจากผื่นหายแล้วควรทายาต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์ และอย่าใช้มือขยี้ตา สำหรับเชื้อราที่เล็บและหนังศีรษะจะยุ่งกว่าที่ผิวหนัง ต้องใช้ยารับประทาน