การตรวจหัวใจโดยการวิ่งสายพาน
การตรวจหัวใจโดยการวิ่งสายพานเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่วิ่ง หากมีหลอดเลือดตีบ เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่พอก็จะทำให้กราฟไฟฟ้าหัวใจแสดงผลออกมา
การตรวจหัวใจโดยการวิ่งสายพานตรวจอะไรได้บ้าง
- เมื่อสงสัยว่าหลอดเลือดหัวใจจะตีบจนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- หาสาเหตุของหัวใจเต้นผิดปรกติ
- ประเมินการรักษาดรคหัวใจ
- ตรวจก่อนการออกกำลังกายในกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
การตรวจหัวใจโดยการออกกำลังกาย
การทดสอบโดยการออกกำลังกาย หมายถึงการทดสอบที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นร่วมกับการวัดความดันโลหิต และกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การทำให้หัวใจทำงานหนักอาจจะใช้เครื่องวิ่งสายพาน หรือขี่จักรยาน บางครั้งอาจจะใช้ยากระตุ้น ส่วนการทดสอบหัวใจโดยการออกกำลังกาย โดยใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงหรือทางรังสีจะไม่กล่าวในที่นี้
ประโยชน์ของการตรวจหัวใจในการออกกำลังกาย
- เพื่อการวินิจฉัย เช่นผู้ป่วยที่มีอาการแน่หน้าอก เราทดสอบหัวใจโดยการวิ่งเพื่อตรวจว่ามีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือไม่
- เพื่อประเมินความรุนแรง/ความเสี่ยงหรือพยากรณ์โรคของผู้ป่วย ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบ
- ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- การตรวจเพื่อประเมินโรคหัวใจก่อนการผ่าตัด
ในการส่งตรวจแพทย์จะต้องคำนึงอะไรบ้าง
- คุณภาพ ความชำนาญ ประสบการณ์ของผู้ร่วมงาน
- ความไว ความจำเพาะ และความแม่นยำของการตรวจ
- ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบการตรวจชนิดอื่น
- ผลการตรวจมีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือไม่
- ผลทางจิตวิทยาของการตรวจ
เมื่อไรแพทย์จะส่งตรวจการวิ่งสายพาน
เหตุผลในการส่งตรวจด้วยวิธีวิ่งสายพานได้แก่
- ประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหรือมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและมีความจำเป็นต้องผ่าตัดโดยเฉพาะการผ่าตัดที่ต้องเสียเลือด หรือการผ่าเข้าช่องทรวงอก อาจจะจำเป็นต้องตรวจหัวใจว่ามีเส้นเลือดตีบหรือไม่
- ตรวจผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แพทย์อาจจะตรวจโดยการวิ่งบนสายพานก่อนกลับบ้านและนัดมาตรวจอีกครั้งหลังจากผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ามีเส้นเลือดอื่นตีบหรือไม่
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก
ข้อห้ามในการตรวจ
แม้ว่าการตรวจด้วยการวิ่งบนสายพานจะปลอดภัย แต่ก็ยังมีข้อห้ามตรวจ ภาวะดังกล่าวได้แก่
- ผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน(2วัน)
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
- ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติที่เกิดอาการและความดันโลหิตไม่คงที่
- ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเอออติกตีบและมีอาการ Symptomatic severe aortic stenosis
- ผู้ป่วยหัวใจวายที่ยังคุมอาการไม่ได้
- ผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดไปอุดหลอดเลือดในปอด Pumonary embolism
- ผู้ป่วยกล้ามเนื้อและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ Acute myocarditis or pericarditis
- ผู้ป่วยหลอดเลือดแดงแยก Acute aortic dissection
การเตรียมตัวในการตรวจ
- เตรียมชุดสำหรับไปวิ่งออกกำลังให้สวมสบายๆ รองเท้าสำหรับวิ่ง
- เตรียมน้ำดื่ม และผ้าสำหรับใช้เมื่ออกกำลังเสร็จ
- ควรจะมีเพื่อนไปด้วย
จะรับประทานอาหารก่อนตรวจได้หรือไม่
- สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ แต่ควรจะงดก่อนการตรวจ 4 ชั่วโมง
- ควรจะงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ควรจะงด 24 ชั่วโมงเพราะกาแฟจะมีผลต่อการตรวจ
- งดบุหรี่ก่อนการตรวจ 24 ชั่วโมง
จะงดยาหรือรับประทานยาต่อ
- ให้งดยาที่ซื้อรับประทานเองเพราะอาจจะมีส่วนผสมของกาแฟอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- สำหรับยาที่รักษาโรคให้รับประทานตามปกติ นอกเสียจากแพทย์จะสั่งงด
- หากท่านเป็นโรคหอบหืดให้นำยาพ่นติดตัวไปด้วย
เป็นโรคเบาหวานจะต้องทำอย่างไร
- หากท่านใช้อินซูลิน ให้ปรึกษาแพทย์ว่าจะฉีดเท่าไร โดยมากแพทย์จะแนะนำให้ลดขนาดลงครึ่งหนึ่งในวันที่ตรวจ
- หากท่านรับประทานยาเบาหวานไม่ควรจะงดอาหาร
ขั้นตอนในการตรวจ
- เมื่อท่านเปลี่ยนชุดเสร็จแล้วพยาบาลจะให้ท่านนอนบนเตียง
- จะทำความสะอาดหน้าอก 10 จุด แขน ขาสำหรับติดอุปกรณ์
- เมื่อติดอุปกรณืเสร็จจะมีตัวส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าติดกับตัวท่าน และต่อเข้าเครื่องตรวจไฟฟ้าหัวใจ
- พยาบาลจะวัดความดันโลหิตท่านอน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจท่านอน
- วัดความดันโลหิตท่ายืน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจท่ายืน
- หลังจากนั้นจะให้ท่านขึ้นไปยืนบนลู่วิ่ง
- ในเบื้องต้นเครื่องจะเดินไปอย่างช้าๆจนกระทั่งท่านคุ้นเคยกับเครื่องแล้วจึงเริ่มการตรวจ
- เริ่มแรกเครื่องจะเดินช้าและไม่ชันมาก เมื่อเวลาผ่านไปเครื่องจะค่อยเร็วขึ้น ชันขึ้น
- ท่านวิ่งไปตามปกติไม่ต้องกังวลไม่เจ็บไม่ปวด
- หากท่านเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอก หรือจะเป็นลม หรือมีอาการอื่นให้บอกแพทย์และพยาบาลที่ดูแลท่านอยู่
- อย่าลงจากเครื่องในขณะที่เครื่องทำงานเพราะอาจจะล้มได้
- เมื่อวิ่งได้ตามกำหนด หรือผลตรวจให้ผลบวกแพทย์จะหยุดเครื่องซึ่งเครื่องก็จะลดระดับความเร็วและความชันจนกระทั่งหยุด
- แพทย์จะแปลผลจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะวิ่ง
การตรวจหัวใจ