หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน
ี ที่จังหวัดอุทัยธานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการออกเมื่อเที่ยงวันนี้ปรากฏติดเชื้อไข้หวัดนก ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วทั้งส่วนกลางและจังหวัดลงพื้นที่ เพื่อควบคุมโรคเป็นการด่วน
นายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้(5 ส.ค.) กระทรวงสาธารณสุขประกาศขึ้นบัญชีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายที่ 2 ของประเทศในปี 2549 หลังพบรายแรกที่จังหวัดพิจิตรเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ผู้ป่วยไข้หวัดนกดังกล่าว เป็นชาย อายุ 27 ปี อยู่ที่บ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 20 ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ส.ค. เวลา 06.58 น. ที่โรงพยาบาลอุทัยธานี ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลศิริราชออกเมื่อเที่ยงวันนี้ พบไวรัสไข้หวัดนก เอช5 เอ็น1 (H5 N1) ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่บ้านผู้เสียชีวิตรายนี้เลี้ยงไก่ 16 ตัว ไก่ตายตัวแรกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. และเอาไก่ไปฝัง เริ่มมีอาการป่วย ปวดศีรษะ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ซื้อยากินเอง ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสว่างอารมณ์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. แพทย์ได้เอ็กซเรย์ปอด ผลปกติ มีไข้ต่ำๆ ผลการตรวจด้วยชุดทดสอบให้ผลลบ ได้ติดตามอาการต่อเนื่อง ต่อมาคืนวันที่ 30 ก.ค. กลับมาพบแพทย์ ด้วยอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน มีไข้สูงปานกลาง จึงรับตัวไว้นอนโรงพยาบาล ในวันที่ 31 ก.ค. เอ็กซเรย์ปอดซ้ำ พบปอดบวม ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และส่งต่อมายังโรงพยาบาลอุทัยธานี แพทย์ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด นอนอยู่ในห้องแยกพิเศษ ต่อมาอาการทรุดลงและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
"กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลพื้นที่ พร้อมด้วยนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ สาธารณสุขนิเทศก์ ลงบัญชาการในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในคน และส่งหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากสำนักระบาดวิทยา สำนักงานควบคุมป้องกันโรคเขต 8 จ.นครสวรรค์ และจากจังหวัดอุทัยธานี ไปควบคุมโรคในหมู่บ้านทุ่งพัฒนา ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ทั้งหมด" นพ.ปราชญ์กล่าว
ด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันนี้กรมควบคุมโรคได้ทำการสอบสวนควบคุมโรคที่หมู่บ้านของผู้เสียชีวิต ในบ้านมีผู้อยู่ร่วมบ้านเพียงคนเดียวคือ ภรรยา ได้ให้กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์แล้ว และจะติดตามอาการต่อไปอีก 14 วัน
อย่างไรก็ตามขอแจ้งเตือนประชาชนทั่วประเทศอย่าประมาท ห้ามใช้มือเปล่าจับซากสัตว์ปีก
หรือสัตว์ปีกที่ป่วยอย่างเด็ดขาด ต้องสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกกันไว้ทุกครั้ง ประการสำคัญอย่านำสัตว์ปีกที่อยู่ในอาการหงอย เซื่องซึมมากิน ให้ถือว่าสัตว์ปีกป่วยผิดปกติ และเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดนก โดยคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ปีกที่ป่วย โดยการสัมผัสกับมูล ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย ขน เลือด และอวัยวะต่างๆในตัวสัตว์ ความเสี่ยงติดเชื้อจะสูงสุดเมื่อสัมผัสและชำแหละสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัส เชื้อจะติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก หรือตาได้
สำหรับกรณีของเด็ก 9 ขวบ จังหวัดลพบุรี ที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบรุนแรง จากเชื้อไข้หวัดใหญ่ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา และประชาชนไม่กล้าไปร่วมงานศพเพราะกลัวติดโรคนั้น นพ.ธวัชกล่าวว่า ประชาชนสามารถไปร่วมงานศพได้ ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากสาเหตุใดก็ตาม โดยเชื้อไม่แพร่กระจายทางศพ และไม่มีการแพร่ทางควันไฟเผาศพอย่างแน่นอน เพราะเชื้อจะถูกทำลายจากความร้อนทั้งหมด เหตุที่ต้องห่อศพรายนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก่อนเสียชีวิตยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบที่สุด เป็นไปตามระบบการป้องกันควบคุมโรคสากล แต่ยืนยันว่าไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนที่หมู่ 8 ตำบลยางมาก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ต่อไป