นักวิจัยสหรัฐ ส่งสัญญาณเตือนโลกต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การใช้ยาต้านไวรัสหวัดนกแบบใหม่


ระบุควรใช้ยา 2 ขนาน ควบคู่กัน ชี้ไวรัสหวัดนกในแต่ละประเทศต่างกัน ส่งผลการพัฒนาวัคซีนอาจได้ผลในบางพื้นที่ ด้าน สธ.เผย บ.โรช กดดันไทย เสนอราคาทามิฟูลถูกกว่า อภ.ผลิตได้ 7 บาท หวังไทยควักกระเป๋าซื้อจาก บ.โรช แทน แฉบริษัทยากว้านซื้อวัตถุดิบผลิตยาจนขาดแคลน

       ดร.โรเบิร์ต จี เวปสเตอร์ หัวหน้าผู้วิจัยภาควิชาไวรัสวิทยา คณะโรคติดเชื้อ สถาบันวิจัยเด็กเซนต์จู๊ด เมืองเมมฟิส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการศึกษาเชื้อไวรัสไข้หวัดนก พบว่า เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ซึ่งในขณะนี้ พบว่า แม้เชื้อไวรัสหวัดนกซึ่งเป็น H5 กับเชื้อไวรัสที่พบในประเทศอินโดนีเซีย ก็มีความแตกต่างจากเชื้อไวรัสที่พบในประเทศไทย และเวียดนาม ดังนั้น ความแตกต่างของเชื้อไวรัสหวัดนกจึงมีความหมายว่า ขณะที่โลกกำลังพัฒนาวัคซีนหวัดนกสำหรับคน โดยใช้เชื้อไวรัสต้นแบบจากประเทศเวียดนามนั้น อาจเป็นวัคซีนที่ไม่สามารถใช้ได้กับเชื้อไวรัสในอินโดนีเซีย เพราะไวรัสมีความต่างกัน แม้ผู้ใช้จะไม่มีอันตรายถึงเสียชีวิตแต่ก็อาจมีอาการป่วยได้

"สรุปได้ว่า การที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาและไม่เหมือนกันทั่วโลก ทำให้โลกยังมีความต้องการพัฒนาวัคซีนใหม่ย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนตลอดเวลาต่อไป"

ดร.โรเบิร์ต จี เวปสเตอร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน การใช้ยาต้านไวรัสนั้น โลกอาจจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การใช้ยาในรูปแบบใหม่ โดยแต่เดิมนั้น เรามียารักษาหวัดนก 2 ขนาน คือ ยาอะแมนตาดีน และยาโอเซล ทามิเวียร์ ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่า ยาอะแมนตาดีน ทำให้เกิดอาการดึ้อยา ทั่วโลกจึงมุ่งไปที่ ยาโอเซล ทามิเวียร์ แต่ขณะนี้มีข้อมูลใหม่ๆ บอกว่า ไวรัสหวัดนกในเอเชียหลายตัวที่ไม่ดื้อยาอะแมนตาดีนแต่เริ่มจะดื้อยาโอเซล ทามิเวียร์ ดังนั้น กลยุทธ์ในการใช้ยารักษาหวัดนกอาจต้องใช้ทั้ง 2 ขนานควบคู่กันไปเพื่อลดการดื้อยา

ด้านนพ. ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงกรณีหวัดนกในประเทศไทย คือ เป็ดที่ติดเชื้อหวัดนก แต่ไม่มีอาการและไม่ตายจึงแพร่เชื้อไปยังสัตวัปีกชนิดอื่นเป็นจำนวนมากโดยที่ยังหาแนวทางป้องกันไม่ได้ ส่วนการใช้วัคซีนหวัดนกในสัตว์นั้น เป็นการป้องกันอาการป่วยด้วยโรคหวัดนกแต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการพัฒนาวัคซีนในคน เราต้องการป้องกันการติดเชื้อเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงต้องเลือกสายพันธุ์ที่เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ทั่วโลกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะไวรัสหวัดนกในแต่ละพื้นที่มีความต่างกัน

นพ.ประเสริฐ ยังได้กล่าวถึง กรณีที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาโอเซล ทามิเวียร์ใช้ได้เองว่า ไม่ถือเป็นความพิเศษแต่อย่างใดเพราะเป็นแค่การซื้อตัวยามาปั๊มเป็นเม็ดเท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ไทยมีปริมาณยาต้านไวรัสสำรองไว้โดยไม่ต้องพึ่งพาจากบริษัท โรช แต่เพียงอย่างเดียว

แหล่งข่าวใน สธ.เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยแถลงว่าสามารถผลิตยาโอเซล ทามิเวียร์ได้เองนั้น โดยมีเป้าหมายจำหน่ายในราคาเม็ดละ 70 บาท ซึ่งถูกกว่ายาต้านไวรัสที่บริษัท โรช เป็นผู้ผลิตส่งผลให้บริษัท โรช ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะลดราคายาทามิฟูล จากเดิมเม็ดละ 123 บาท เหลือเม็ดละ 63 บาท เพื่อให้ประเทศไทยซื้อยาจากบริษัท โรช แทน

"กรณีนี้ถือเป็นการกดดันจากบริษัท โรช ในรูปแบบหนึ่งที่ผ่านมาทางบริษัท โรช ได้กว้านซื้อวัตถุดิบสารตั้งต้นผลิตยาต้านไวรัสไว้ ทำให้เกิดความขาดแคลนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ไทยทำการผลิตยาต้านไวรัสได้ แต่ทาง สธ.ยืนยันที่จะผลิตต่อไป เพื่อสำรองยาไว้ใช้ในยามจำเป็น"

 

เพิ่มเพื่อน