ตัดวงจร"หวัดนก"ระส่ำ รัฐบาลถังแตกอสม.หมุนเงินควั่ก


สถานการณ์ไข้หวัดนกทั่วโลกถือว่าอยู่ในสภาวะตึงเครียด เพราะเชื้อมรณะได้คืบคลานเข้าไปในสัตว์ปีกแถบยุโรปแล้ว หลังจากที่ระบาดในทวีปเอเชียเมื่อปลายปี 2546 แม้ว่าสถานการณ์ในบ้านเราจะยังเงียบสงบ แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายนี้นายเหรียญ บุญสำลี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จ.นครสวรรค์ ระบุว่า อสม.ช่วยทำงานป้องกันไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพื้นที่นครสรรค์เป็นอีกพื้นที่เสี่ยง เพราะมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกมาก่อนการทำงานตอนนี้ หากรู้ว่าพื้นที่ไหนมีไก่ตายผิดปกติ พวก อสม.จะเข้าไปช่วยดูแล และพ่นยาฆ่าเชื้อ รู้ตอนไหนก็ไปตอนนั้น แต่ปัญหาที่พบคือสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นบางทีก็ต้องไปของบฯจากสถานีอนามัย (สอ.) หาก สอ.ไม่มีก็จะต้องไปของบฯองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือกรมปศุสัตว์

"ก่อนหน้านี้เคยไปของบประมาณเพื่อซื้อสารเคมีและอุปกรณ์ที่กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้คำตอบว่าไม่มีงบฯ บางทีก็ต้องรอเบิกจ่าย ก็ต้องหาเอาเอง" นายเหรียญกล่าวถึงความยากลำบากในการของบประมาณ

อสม.ที่ทำงานมานานกว่า 25 ปี ระบุว่า ปัญหาการป้องกันและควบคุมโรคอยู่ที่งบประมาณ เพราะงบประมาณการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่ได้อยู่ที่ สธ. แต่อยู่ที่ปศุสัตว์ ซึ่งปศุสัตว์เองก็ไม่มีคน กลายเป็นว่าคนมีงบฯไม่ได้ทำ แต่คนที่ต้องลงไปทำคือคนที่ไม่ได้งบฯ ซึ่งนอกจากจะขาดงบประมาณซื้อสารเคมีแล้ว แม้แต่อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อป้องกันตนเอง เช่น หน้ากาก ถุงมือยาง ก็มีเพียง 2% เท่านั้น อสม.จึงต้องจัดหาเอาเอง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนไม่ต้องพูดถึง เพราะงานนี้ทำด้วยใจเท่านั้น

"ผมเคยเสนอให้จัดงบประมาณเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยงตำบลละ 100,000 บาท ซึ่งจะทำให้ อสม.เข้าไปช่วยป้องกันโรคในพื้นที่ระบาดได้ภายใน 12 ชั่วโมง ขณะที่ถ้ารอเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง กว่าจะมาถึงก็ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง แต่เราเข้าไปได้ทันที อสม.คือคนที่มีความรู้ในการป้องกัน เนื่องจากได้รับการฝึกอบรมมาจากกรมควบคุมโรคแล้ว มีความรู้แต่ขาดงบประมาณ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต้องมาคุยกันว่างบประมาณจะอยู่ตรงไหน และจะให้ใครเป็นคนทำ เราอยากให้รัฐเกาให้ถูกจุด" นายเหรียญบอกกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหา

ในขณะที่ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับว่า งบฯป้องกันโรคทั้งระบบไม่เพียงพอ ไม่เฉพาะแค่โรคไข้หวัดนก ซึ่งแม้งบประมาณเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกรัฐบาลได้ให้งบฯกลางมาเพิ่มอีก 423 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับงานที่จะทำ ทั้งการซื้อยาโอเซลทามิเวียร์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย และยังต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และ อสม. แต่ถึงงบประมาณที่ได้มาไม่เพียงพอ ก็ต้องใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ให้ได้งานมากที่สุด แต่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด

ปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอนี้เกิดจากการโอนงบประมาณควบคุมและป้องกันโรคให้กับท้องถิ่น 35% ซึ่งก่อนหน้านี้การตั้งงบประมาณเพื่อป้องกันและควบคุมโรคจะตั้งจากกรมควบคุมโรค แต่เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการก็เปลี่ยนไปตั้งงบประมาณที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเมื่องบฯส่วนหนึ่งถูกโอนไปให้กับท้องถิ่น จะมีท้องถิ่นไหนบ้างที่จะเห็นความสำคัญของการควบคุมและป้องกันโรค ในเมื่องบประมาณด้านนี้ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ได้เปอร์เซ็นต์เท่าใดนัก หรือถึงได้ก็น้อยมาก เมื่อเทียบกับโครงการก่อสร้าง ทั้งสร้างถนนหนทาง ฝายกั้นน้ำ ประปาหมู่บ้าน ที่ให้เปอร์เซ็นต์ได้เต็มไม้เต็มมือมากกว่า

"การให้ อบต. เทศบาล เป็นคนตั้งงบประมาณด้านนี้ แทนก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์แผนที่ประเทศไทย หากพื้นที่ไหนตระหนักรู้ถึงปัญหาเขาก็จะตั้งงบประมาณเรื่องนี้ แต่ถ้าพื้นที่ไหนเขาไม่เห็นว่าสำคัญก็จะไม่ตั้งงบฯไว้ หากไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไร แต่หากมีปัญหาโรคระบาดขึ้นมาแล้ว อปท.ที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้จะเอางบฯที่ไหนมาแก้ไข มันก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่แหว่งขาดไป พอมีปัญหาก็ควบคุมยาก" นพ.ธวัชระบุ

นพ.ธวัชกล่าวว่า ความเก่งของคนวางแผนนั้น อปท.ทั่วประเทศมีไม่เท่ากัน และงานนี้ก็เป็นงานใหม่ อปท.บางแห่งยังไม่คุ้ยเคยจึงอาจละเลยหรือลืมตั้งงบประมาณไว้ เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดก็ยากที่จะดึงงบประมาณส่วนอื่นมาโปะ เนื่องจากงบประมาณทั้งหมดจะถูกตั้งบนพื้นฐานดัชนีชี้วัด และเสี่ยงกับการถูกตรวจสอบว่าใช้งบประมาณผิดประเภทอีกด้วย

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมี อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประชุมหมู่บ้านและชุมชนกว่า 7 แสนคนทั่วประเทศ แต่อย่าลืมว่า อสม.เหล่านี้คือคนที่มาทำงานด้วยความสมัครใจ ด้วยเหตุที่ไม่มีค่าตอบแทนเป็นรางวัล และหาก อสม.ให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคเป็นอย่างดี แต่ติดที่งบประมาณที่จะมาดำเนินการ จึงเกิดคำถามว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา "ใคร" จะรับผิดชอบ หากไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้การระบาดของโรคร้าย เช่น โรคเอดส์ ไข้เลือดออก หรือแม้กระทั่งไข้หวัดนก ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้

ขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ แต่หากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดนกอะไรจะเกิดขึ้น งบประมาณและบุคลากรที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคระบาดใหญ่ขนาดนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหาทางช่วยกันขบปัญหาให้แตก

ประเทศไทยเราเดินมาถูกทางแล้วที่จะกระจายอำนาจการปกครองออกไปสู่ท้องถิ่น แต่สำหรับด้านสาธารณสุขที่ต้องการความเชี่ยวชาญและความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา จำเป็นหรือไม่ที่จะให้ท้องถิ่นต้องตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ และเราจะตั้งรับอย่างไรเมื่อปัญหามาจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว

เพิ่มเพื่อน