jrprint

หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน

adv

ตั้งรับ "ไข้หวัดนก" ไร้บทเรียน แก้วิกฤตบนแผ่นกระดาษ ?


จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ 24 ตค 2548

 

สกู๊ป ทำท่าจะเข้าอีหรอบเดิมแล้วสำหรับการแก้ปัญหาไข้หวัดนกของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ล่าช้า ไม่ทันการ แม้จะผ่านประสบการณ์มา 2 ปีกว่าแต่ดูเหมือนว่ารูปธรรมการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ให้บทเรียนอะไรกับรัฐบาลเลย

ล่าสุด นายบังอร เบญพาด อายุ 48 ปี ชาวบ้านที่ ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ต้องสังเวยชีวิตไปอีก 1 รายจากการติดเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) รอบใหม่ (รอบ 3) หลังจากนำไก่ที่ป่วยไปเชือดกิน นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 13 ของประเทศที่เสียชีวิตจากไข้หวัดนก และเป็นรายแรกของปีนี้

น่าสนใจและน่าแปลกใจตรงที่พื้นที่ดังกล่าว "น้องกัปตัน" หรือ ด.ช.กัปตัน บุญมานุช เคยป่วยและเสียชีวิตลงจากไข้หวัดนกเป็นรายแรกของประเทศไทยเมื่อ 2 ปีก่อน

ขณะเดียวกัน ยังมีลูกชายของนายบังอร อายุ 7 ขวบ ที่เข้าไปช่วยพ่อถอนขนไก่ ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชอีก 1 ราย ซึ่งยังรอยืนยันผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) อย่างละเอียดอีกครั้งว่าจะติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าตรวจไม่พบไข้หวัดนก ให้หลังแค่วันเดียวนายบังอรก็เสียชีวิตลง รัฐบาลโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข จึงออกมายืนยันอีกครั้งว่าผู้ป่วยตายด้วยไข้หวัดนก

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลถูกมองว่ามีการ "ปกปิดข้อมูล" เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาล กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

ไม่แปลกที่ นางสมจิต ทองรัศมี อายุ 42 ปี น้องสาวของนายบังอรที่เสียชีวิตลงจึงออกมาต่อว่าต่อขานรัฐบาลว่าพยายามปกปิดข้อเท็จจริง โดยระบุก่อนหน้าว่านายบังอรไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนก ทั้งๆ ที่ญาติพี่น้องและชาวบ้านเชื่อว่าติดเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่แรกแล้ว เพราะมีอาการเหมือนเด็กชายกัปตัน กระทั่งภายหลังผู้รับผิดชอบจึงออกมายอม รับความจริง ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อถือข้อมูลของรัฐ

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังผวากันอย่างหนักเนื่อง จากเด็กชายรณฤทธิ์ไม่ได้สัมผัสไก่โดยตรง แต่คลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับนายบังอร ซึ่งอาจจะเป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คนก็เป็นได้

เช่นเดียวกับ นายชำนาญ บุญมานุช บิดาของน้องกัปตัน ที่กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดอีกครั้งในพื้นที่ อ.พนมทวนนั้น มองว่ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ อาจเนื่องจากคนของรัฐยังทำงานไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ชาวบ้านแจ้งว่ามีสัตว์ปีกทยอยป่วยตาย เจ้าหน้าที่ควรจะเข้ามาตรวจสอบทันทีเพื่อจะได้หยุดการแพร่ระบาดของโรค

"ขณะนี้ชาวบ้านผวากันอย่างหนัก เพราะเกรงว่าไข้หวัดนกจะกลายพันธุ์จากคนสู่คน ถึงแม้ว่ารัฐจะออกมายืนยันว่า ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ก็ตาม ที่ผ่านมาตั้งแต่บุตรชายตนเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ทั้งปศุสัตว์และสาธารณสุขไม่ได้ลงพื้นที่มาควบคุมดูแลเลย ปล่อยปละละเลยให้ชาวบ้านเลี้ยงกัน โดยไม่ห้ามปราม ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นคนของรัฐก็มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคระบาดด้วย" นายชำนาญกล่าว

ทว่านั่นเป็นเพียงเสียงบ่นจากคนจน จากชาวบ้านธรรมดา ที่ไม่มีน้ำหนักหรือเสียงดังพอที่จะทำให้รัฐบาลให้ความสนใจ

ย้อนกลับไปถึงการแก้ปัญหาไข้หวัดนกของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะไม่มี "เจ้าภาพ" เป็นตัวเป็นตน

ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีหลังเกิดการระบาดของไข้หวัดนก บทเรียนที่ผู้บริหารระดับสูงในกรมปศุสัตว์ อาจารย์จากคณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขบางคนยอมรับ และสรุปตรงกันว่า การทำงานในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้สวยหรูในกระดาษ ภาครัฐคงยังปิดบังข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากไข้หวัดนกที่ยังมีระบาดประปราย ถ้าจังหวัดไหน หรือเกษตรกรคนใดช่วยกันได้ ก็ให้ขุดหลุมฝังกันอย่างเงียบๆ เพราะเกรงจะกระทบการส่งออกเช่นเดิม แถมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางคน เกรงจะถูกทางจังหวัดเล่นงาน เพราะปล่อยให้เกิดปัญหาไข้หวัดนกขึ้นในพื้นที่ วิธีการคือพยายามปิดข่าว และไม่มีการแจ้งส่วนกลางให้รับทราบ

ส่วนการทำงานระดับกรม และกระทรวง ก็มีปัญหาในเรื่องการประสานงานภายในหน่วยงานของตัวเอง เรียงลำดับตั้งแต่ นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ กับรัฐมนตรีช่วย ที่เห็นไม่ค่อยสอดคล้องกันในบางเรื่อง บางประเด็น ตั้งแต่เกิดปัญหาไข้หวัดนกใหญ่ๆ จนมาถึงการทำงานภายในของแต่ละกรมกองเอง ระหว่างกรมกับจังหวัด และปัญหา "การประสานงาน" ระหว่างหน่วยงานที่มักจะเกิด "การประสานงาน" กันบ้างในบางครั้ง บางพื้นที่

รวมถึงเรื่องเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในส่วนของกรมปศุสัตว์ ที่มักจะได้ยินทั้งผู้บริหารระดับสูง และระดับปศุสัตว์จังหวัดบ่นให้ฟังเสมอว่า เนื่องจากเป็นเพียงระดับ "กรม" ทำให้งบประมาณที่เสนอขอรัฐบาลไปมักถูกตัด ทำให้ไม่สามารถนำไปจ่ายชดเชย หรือจ้างอาสาสมัครมาช่วยงานได้เต็มที่

อย่างล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลไปจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ควบคุมและแก้ปัญหาไข้หวัดนกปี 2549 ปรากฏว่าได้รับการอนุมัติเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

ต่างกับกระทรวงสาธารณสุขที่มีการทำงานเป็นระดับ "กระทรวง" ทำให้การของบประมาณต่างๆ ได้รับการผลักดันและสนับสนุนเป็นอย่างดี

ด้านนักวิชาการเองก็มีเสียงแว่วจากคนในวงการด้วยกันว่า บางคนก็ต้องการเอาเด่น ดี ดัง ทำงานเอาหน้า ไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งกันและกัน ทั้งที่ควรจะเอาความเก่งที่แต่ละคนมีอยู่มาประสานกันเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อส่วนรวม แต่ในทางปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นไม่ บางครั้งทำงานเหมือนกัน หันหลังชนกันยังไม่รู้เลยว่า คนนี้ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานบนแผ่นกระดาษจะไม่สามารถบรรลุตามมาตรการแก้ปัญหาและป้องกันที่ได้ผล โดยเฉพาะการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์ไข้หวัดนก ซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการเรียกติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์ แต่หลายคนบอกว่า ดีกว่าไม่มีคนคอยเรียกติดตามตรวจสอบอย่างเช่นปัจจุบัน

เพราะหลังจากที่นายจาตุรนต์ถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามารับหน้าที่แทนแทบจะไม่มีบทบาทในเรื่องดังกล่าว ทำให้การทำงานของหน่วยงานบางแห่งซึ่งเชื่องช้ายิ่งปล่อยปละละเลยไปกันใหญ่

การทำงานเช่นนี้ยิ่งทำให้เกษตรกรหลงทิศหลงทางกันไปใหญ่ เช่น กรณีเป็ดไล่ทุ่ง การที่กรมปศุสัตว์ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างจริงจัง เนื่องจากเมื่อมีม็อบเกษตรกรมาครั้งหนึ่งนักการเมืองจะไขว้เขว ทั้งที่เบื้องหลังม็อบเหล่านั้นคือนายทุนเพียง 23 คน ทำให้ทุกวันนี้ปริมาณเป็ดไล่ทุ่งกลับเพิ่มหนาตาขึ้น

เพราะเมื่อจัดการล้อมรั้วล้อมคอกให้เป็ดไม่ได้ คนเลี้ยงไก่รายย่อยจึงหันไปเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งแทน ส่งผลให้ปัญหายิ่งบานปลายไปกันใหญ่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็ดคือพาหะสำคัญ เพราะติดเชื้อแล้วไม่ตาย ไม่แสดงอาการ แถมเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ในน้ำ บริเวณที่เป็ดอยู่นั้น หากอาการอึมครึม แดดอ่อน เชื้อมีโอกาสอยู่ได้นานหลายวัน

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการใช้วัคซีนในไก่ยังเป็นปัญหาคลุมเครือที่รอวันให้มีความชัดเจน การลักลอบใช้ โดยหน่วยงานภาครัฐปิดตาทั้งสองข้าง แถมยังมีการเข้าไปช่วยตรวจสอบภูมิคุ้มกัน โดยประกาศชัดว่าประเทศไทยไม่เคยใช้วัคซีน เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกไก่มูลค่า 40,000 ล้านบาทอีกเช่นกันนั้น ทำให้เกษตรกรหลายคนชะล่าใจ และไม่มีการประเมินผลการใช้ที่ชัดเจน

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องระวังให้มาก เพราะหากวัคซีนเริ่มไม่ได้ผล บ่งบอกว่าเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว มหันตภัยใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ใครจะรับผิดชอบ

ที่สำคัญการแอบลักลอบใช้วัคซีนในเป็ดไล่ทุ่งวันนี้ค่อนข้างน่ากลัวนักหนา เพราะเป็ดยังคงปล่อยเชื้อออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกจำนวนมาก

ปัญหาทั้งหลายทั้งมวลที่เกิดขึ้น ย่อมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากเกิดการระบาดใหญ่จริงอย่างที่หลายคนหวั่นวิตกแล้ว หากมัวต่างคนต่างทำงานกันเช่นนี้ ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะรับมือกับการระบาดใหญ่ได้เลย

จากหนังสือมติชน 24 ตค 2548

20คนเสี่ยงติด หวัดนกจาก"เล้ามรณะ"

ต้นตอทำหนุ่มกาญจน์ตาย "สุชัย"ปลอบ"อย่าตระหนก"

"ทักษิณ"อ้างคุมเชื้อไข้หวัดนกไม่ให้แพร่กระจายอยู่หมัด อวดทำงานมีมาตรฐานเชื้ออยู่ไหนเอกซเรย์เจอหมด "สุชัย"รับรองไม่ระบาดในคนวงกว้าง ปลอบอย่าตื่นตระหนก ผอ.สำนักควบคุมฯเผยพบเชื้อระบาดอย่างเป็นทางการ 5 จว.

"ทักษิณ"อ้างคุมเชื้อไข้หวัดนกอยู่หมัด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ณ ลานพระบรมรูปทรงมา ถึงกระแสข่าวนพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมเสนอย้าย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการทำงานแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ว่า ไม่มี ยังไม่ได้ข่าวอะไรเลย นพ.ธวัชยังทำงานได้ดีอยู่

สำหรับเรื่องที่ นพ.สุชัยได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 31 ตุลาคม นายกฯจะขอร้องให้อยู่ช่วยทำงานต่อหรือไม่นั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน เอาไว้ให้เสร็จเรื่องใน 2-3 วันนี้ก่อน แล้วค่อยคุยกัน ขณะนี้ปล่อยให้ นพ.สุชัยทำงานของตัวเองไปก่อน วันนี้ นพ.สุชัยจะไปนอนที่จังหวัดกำแพงเพชรเพื่อไปดูเรื่องปัญหาไข้หวัดนก และได้โทรศัพท์แจ้งมาว่าไม่ต้องเป็นห่วง

นายกฯกล่าวว่า การระบาดของไข้หวัดนกในขณะนี้ ความจริงต้องมองกลับกัน ในสมัยก่อนไทยเจอโรคโดยประหลาดใจ และไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ก่อน แต่ครั้งนี้ได้เสาะหาตลอดจนพบว่ามีเชื้ออยู่ที่ใด โดยใช้ระบบรีเอ็กซเรย์ 21 จังหวัด พบว่ามีทั้งหมด 15 จุดที่มีปัญหา แต่เป็นจุดเล็กๆ และสามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายได้หมด ถือเป็นเรื่องดีเพราะระบบทำงานได้ดีขึ้น ส่วนนายบังอร เบญพาด ชาวต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ที่เสียชีวิตจากการเป็นไข้หวัดนกรายแรกของการระบาดในรอบนี้นั้น นายกฯกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดจากความคาดหมาย เนื่องจากมีความชัดเจนว่า มีการไปชำแหละสัตว์ที่ตายจากโรคไข้หวัดนกมากิน ทำให้เกิดอันตรายมาก

"ขณะนี้วิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลถือว่าได้มาตรฐานมาก เราห้ามโรคไม่ได้แต่สามารถเสาะหาว่ามีเชื้ออยู่ที่จุดไหนบ้าง และไปควบคุมได้ และยังได้พยายามบอกกับประชาชนตลอดเวลาซึ่งถ้าประชาชนทำตามที่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขบอก ก็จะไม่เป็นอันตรายอะไร" นายกฯกล่าว

"สุชัย"รับรองไม่ระบาดในคนวงกว้าง

ขณะที่ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล เดินทางไปตรวจติดตามโรงพยาบาลในพื้นที่สีเหลืองและสีแดง ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อเวลา 14.00 น. โดยตรวจเยี่ยม 3 จุด คือ ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลวัดโบสถ์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลก หลังจากพบมีสัตว์ปีกตายโดยไม่ทราบสาเหตุ 4 อำเภอ คือ อ.วัดโบสถ์ อ.บางระกำ อ.บางกระทุ่ม และอ.พรหมพิราม โดยมีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้วในรัศมี 5 กิโลเมตรไปหมดแล้ว สำหรับผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยเป็นไข้หวัดนก 3 ราย จากผลการตรวจดีเอ็นเอ ปรากฏว่าไม่พบเชื้อไข้หวัดนก เป็นเพียงโรคไข้หวัดใหญ่ 1 ราย และเป็นโรคเกี่ยวกับปอดอักเสบจากแบคทีเรีย 2 ราย

นพ.สุชัยกล่าวว่า ขอยืนยันว่ามีผู้ป่วยเชื้อไข้หวัดนกในคนของประเทศไทยมีเพียง 2 รายเท่านั้น ประชาชนขออย่าได้ตื่นตระหนก ยังมีโรคอื่นๆ อีกหลายโรคที่น่ากลัว เช่น โรควัณโรค เสียชีวิตปีหนึ่ง 5,000 ราย ในขณะที่เมื่อปี 2547 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก 12 ราย ก็ขอให้ทุกฝ่ายตระหนัก แต่อย่าตระหนก "ผมให้ความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีการระบาดไข้หวัดนกในคนในวงกว้างเป็นอันขาด" นพ.สุชัยกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดนกในคน เวลานี้ทั่วโลกยังไม่มีใช้ แต่ขณะนี้มีการวิจัยทำกันแล้วในสหรัฐอเมริกา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนมีโอกาสพบนายไมเคิล ลีมิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา ที่เดินทางมาประเทศไทย จึงขอสำรองวัคซีนไว้ใช้ในประเทศไทย 50,000 โด๊ส ทั้งนี้หากประชาชนผู้ยากจนป่วยด้วยเชื้อไข้หวัดนก หรือโรคอื่น สามารถเข้ามารักษาโดยใช้สิทธิบัตร 30 บาทได้

นพ.สุชัยยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวอาจสั่งย้าย นพ.ธวัช ว่า เวลานี้ได้ขอให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ทำงานต่อไปเหมือนเดิม และณ วันนี้ ได้สั่งการให้อธิบดีทุกคนให้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนข้อบกพร่องปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ทุกคนทราบกันอยู่ แต่ก็ขอให้ตั้งใจทำงาน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกในรอบที่ 3 นี้ให้ได้ และอย่าให้มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นอีก

สธ.อ้างส่งตรวจเชื้อกลายพันธุ์เรื่องปกติ

ส่วนอาการของ ด.ช.รณฤทธิ์ เบญพาด อายุ 7 ปี บุตรชายนายบังอร ที่ติดเชื้อไข้หวัดนก เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น นางยุพิน เบญพาด มารดาของ ด.ช.รณฤทธิ์ เข้าเยี่ยมลูกชายเป็นวันแรก พร้อมด้วยญาติอีก 7 คน โดยนางบัวเรือน ขำสอาด ผู้เป็นป้าของ ด.ช.รณฤทธิ์ หรือน้องเอ ให้สัมภาษณ์ว่า น้องเอมีอาการดีขึ้นแข็งแรงมากขึ้น ตื่นมาตอนเช้า ก็กินข้าว กินน้ำ นั่งสมาธิ ออกกำลังกายได้ตามปกติ วันนี้ก็กินข้าวได้หมด ซึ่งน้องเอบอกอยากได้รถตักดินของเล่น ก็ไปซื้อให้ น้องเอบ่นคิดถึงเพื่อนๆ เหมือนกัน แต่ก็ไม่ทราบว่า แพทย์จะให้อยู่นานแค่ไหน และยังไม่ทราบผลตรวจวันนี้ ซึ่งก็เข้าใจว่า โรคนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้แน่ใจถึงจะบอกได้

นางยุพินกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับแพทย์ ว่าน้องเอจะออกจากโรงพยาบาลได้วันไหน ก็ดีใจที่เห็นลูกปลอดภัย น้องเอก็บ่นอยากกลับบ้านแต่บอกให้รักษาตัวจนหายก่อนแล้วค่อยกลับ และบอกอยากได้ของเล่น ป้าเขาก็ซื้อมาฝาก

นางยุพินกล่าวว่า ขณะนี้ก็ได้ระวังโรคเต็มที่ เพื่อนบ้านก็มีหมอมาตรวจดู ก็มีคนกลัวป่วย มีอาการเล็กน้อยก็ไปหาหมอ เมื่อถามว่า น้องเอถามถึงพ่อหรือไม่

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ กล่าวกรณี การส่งตรวจเชื้อ ของ ด.ช.รณฤทธิ์ เพื่อดูในเรื่องของการกลายพันธุ์ว่าปกติจะต้องส่งตรวจสอบอยู่แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์เฝ้าระวังการกลายพันธุ์ไวรัส Influenza ซึ่งจะมีห้องทดลองการตรวจสอบพันธุกรรมของไวรัส ทุกสายพันธุ์อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และโรคซาร์ส โดยแล็บจะดำเนินการตรวจสอบพันธุกรรมเปรียบเทียบว่ามีความแตกต่างหรือกลายพันธุ์หรือไม่

พบเชื้อระบาดอย่างเป็นทางการ5จว.

นายนิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ผลจากการนำตัวอย่างสัตว์ปีกที่เสียชีวิตอย่างผิดปกติ เข้าตรวจสอบเชื้ออย่างละเอียด ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดได้รับการยืนยันผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมว่า ไก่พื้นบ้าน และไก่ชน ใน อ.ปากเกล็ด และอ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และที่ อ.เมือง จ.นครปฐม แสดงผลการตรวจเชื้อเป็นบวก หรือมีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกอย่างเป็นทางการแล้ว จึงทำให้ขณะนี้สามารถระบุข้อมูลล่าสุดได้ว่า มีการตรวจพบจุดที่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในรอบ 3 ในประเทศ เพิ่มขึ้น เป็น 5 จังหวัด จากเดิม 4 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี กำแพงเพชร นครปฐม กาญจนบุรี และนนทบุรี

ทั้งนี้จำนวนจุดที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อ ยังคงอยู่ที่จำนวน 15 จุด เนื่องจากก่อนหน้าได้กรมปศุสัตว์ ได้มีการปรับลดจุดที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อลงมาอยู่ที่ 12 จุด แต่เมื่อนับรวมจุดที่มีการยืนยันการแพร่ระบาดของเชื้อล่าสุด อีก 3 จุด ก็ยังทำให้จำนวนจุด เพิ่มขึ้นเป็น 15 จุดเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากนัก เนื่องจากจุดที่มีการยืนยันผลการเกิดโรคอย่างเป็นทางการ จากห้องปฏิบัติการ ทั้งในส่วนของนนทบุรี และนครปฐม เป็นพื้นที่เก่าที่กรมปศุสัตว์ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ และทำลายสัตว์ปีกทั้งหมด เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปชป.ติง"ทักษิณ"อย่าด่วนสรุป

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โฆษกคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เรื่องที่นายกฯระบุไข้หวัดนกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้นั้น อยากให้นายกฯและรัฐบาลใจเย็น และตรวจสอบเรื่องนี้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และระบาดวิทยาให้ชัดเจนก่อนค่อยออกมายืนยัน เพราะไข้หวัดนกไม่ใช่คนที่นายกฯจะสามารถสั่งได้ และหากไข้หวัดนกแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้จะทำให้นายกฯไม่สบายใจที่สั่งมันไม่ได้ ส่วนความรับผิดชอบเรื่องการระบาดของไข้หวัดนกนั้น ไม่ใช่ข้าราชการเท่านั้น แต่ฝ่ายการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้มาตรการป้องกันการระบาดทั้ง 5 ข้อของกระทรวงสาธารณสุขขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่าเป็นเพียงมาตรการปฏิบัติทางหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น

"ส่วนหมอสุชัย ท่านบอกว่านอนก็ฝันถึงไข้หวัดนก แต่ละวันนึกถึงแต่ไข้หวัดนก ซึ่งผมขออย่างเดียวว่าอย่าลืมเรื่องการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขด้วยและให้เร่งสะสางก่อนที่จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ด้วย" นพ.วรงค์กล่าว

เมืองกาญจน์สั่งคุมเข้มหลังมีคนตาย

ทางด้านสถานการณ์ในจังหวัดต่างๆ นั้น นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรียก นพ.สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายยิ่งยศ ชูสมภพ รักษาการปศุสัตว์จังหวัด หารือการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก และการดูแลชาวบ้านในพื้นที่สีแดง ซึ่ง นพ.สุรพงษ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า สาเหตุการติดเชื้อของนายบังอร อาจเกิดจากช่วงที่ชำแหละไก่และดื่มสุราไปพร้อมกัน ส่วนด.ช.รณฤทธิ์ คาดว่าเกิดจากการเปิด-ปิดตู้เย็นเพื่อดื่มน้ำ นำผักและผลไม้ออกมารับประทานบ่อยครั้ง อีกทั้งรอบบ้านมีมูลสัตว์

"ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 250 คนลงพื้นที่ ต.พังตรุ อ.พนมทวน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนก เพราะอาจเผอเรอกันไปบ้างจึงต้องไปกระตุ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังสั่งการอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน(อสม.) ว่า หากว่าพบผู้ป่วยเป็นไข้หวัด และในรัศมี 500 เมตรมีข้อมูลสัตว์ปีกป่วยตาย จะรับตัวมาเฝ้าระวังพร้อมกับให้ยาทามิฟลูทันที ดังนั้นตัวเลขผู้ป่วยเฝ้าระวังจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ได้เตรียมยาทามิฟลูไว้เพียงพอแน่นอน" นพ.สุรพงษ์กล่าว

พบเสี่ยง20รายเกี่ยวข้องกับไก่ป่วย-ตาย

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า มีผู้ป่วยเฝ้าระวัง 3 ราย คือ ด.ช.ธรรมนูญ ก้านเหลือง อายุ 10 ปี อยู่หมู่ 5 ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน และด.ญ.อายุ 3 ปี อยู่ ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง ทั้ง 2 รายไม่มีประวัติสัมผัสไก่โดยตรง แต่โดยรอบบ้านมีไก่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ล่าสุดเด็กหญิงสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก จึงนำออกจากห้องผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ส่วนนางสำอาน ห้าวเหิญ อายุ 48 ปี อยู่เลขที่ 62 หมู่ที่ 6 ต.พังตรุ นำไก่ป่วย 2 ตัวจากบ้านนายเย้ย ตะพัง ซึ่งเป็นจุดเกิดไข้หวัดนกไปชำแหละแล้วประกอบอาหารรับประทานเช่นเดียวกับนายบังอร ตรวจเบื้องต้นพบว่าผลเป็นลบ อย่างไรก็ตามแพทย์ได้ให้ยาทามิฟลูก่อนที่ผลตรวจเลือดจากกรมวิทยาศาสตร์จะยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้อาการมีไข้อย่างเดียว ซึ่งเฝ้าระวังอยู่ที่ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อ.เมือง

"เมื่อลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่ามีชาวบ้านเกี่ยวข้องกับไก่ป่วยตายจากบ้านนายเย้ยประมาณ 20 ราย จึงให้ยาทามิฟลูเพื่อป้องกันก่อนแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่อนามัยกำกับการรับประทานยาวันละ 2 เวลา รวม 5 วัน คาดว่าผู้ที่สัมผัสไก่ป่วยตายน่าจะได้รับยาทั้งหมดแล้ว" นพ.สุรพงษ์กล่าว

นายยิ่งยศกล่าวว่า ได้ประกาศให้ จ.กาญจนบุรีเป็นเขตภัยพิบัติโรคระบาดไข้หวัดนกแล้ว แต่สั่งทำลายสัตว์ปีก 2 ตำบล คือ ต.พังตรุ และต.างหวาย อำเภออื่นยังไม่พบเชื้อ

นางสาคร เบ็ญพาด อายุ 74 ปี มารดานายบังอร กล่าวว่า แพทย์ได้นำยาทามิฟลูมาให้รับประทาน เนื่องจากนำไก่ป่วยจากบ้านนายเย้ยมาชำแหละประกอบอาหาร ส่วนด.ช.รณฤทธิ์ คลุกคลีอยู่กับพ่อ และนอนด้วยกัน อาจเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้

ด.ช.บุญฤทธิ์ เบญพาดหรือน้องเอ็ม อายุ 9 ปี บุตรชายนายบังอรกล่าวว่า กินไก่ป่วยที่บิดานำมาชำแหละ แต่ไม่ได้สัมผัสไก่ ส่วนน้องเออยู่ด้วย ในขณะที่บิดาชำแหละไก่

เจ้าของบอกแจกไก่ป่วย-ตายไปอื้อ

นายเย้ยกล่าวว่า เลี้ยงไก่พื้นเมืองและไก่ชน 300-400 ตัว เมื่อต้นเดือนตุลาคมมีไก่ได้ทยอยป่วยตายวันละ 30-40 ตัว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ จากนั้น 4-5 วันจึงเข้ามาสุ่มตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งเวลานั้นไม่ทราบว่าไก่เป็นโรค ไข้หวัดนก คิดว่าเป็นโรคปกติ จึงแจกจ่ายไก่ป่วยแต่ยังไม่ตายกว่า 50 ตัว ให้ชาวบ้านหมู่ 1,6,8 และ 9 ซึ่งน้องเอจับไก่ป่วยด้วยมือเปล่าแล้วนำไปให้นายบังอรชำแหละ จนวันที่ 12 ตุลาคมเจ้าหน้าที่จึงเข้ามาทำลาย

นายชำนาญ บุญมานุช บิดา ด.ช.กัปตัน บุญมานุช อายุ 7 ปี ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกรายแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 กล่าวว่า การแพร่ระบาดาง และมีผู้ป่วยมากกว่ารอบแรก มองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใส่ใจเท่าที่ควร ดูได้จากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบล่าช้ามาก กว่าจะทราบผลว่าไก่เป็นโรคก็ล่าช้า โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมเริ่มมีไก่ป่วยตายจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ แต่มาสุ่มตรวจวันที่ 7 ตุลาคม ค่ำวันที่ 12 ตุลาคมจึงเข้ามาทำลาย ทำให้ชาวบ้านไม่ทันระวังเพราะไม่มีการยืนยันว่าไก่เป็นไข้หวัดนก

"ผมยังข้องใจว่ารอบแรกเจ้าหน้าที่สั่งทำลายไก่ทั้งหมด รวมทั้งฟาร์มปิด แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่เลือกทำลายเฉพาะไก่พื้นเมือง ไม่แน่ใจว่าจะตัดวงจรได้หรือไม่ เพราะแม้ฟาร์มจะมีมาตรฐาน แต่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ปกป้องฟาร์มใหญ่ และที่สำคัญหากเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีการแพร่ระบาดในฟาร์มจริง ทำไมเจ้าของฟาร์มเคลื่อนย้ายไก่ช่วงกลางคืน โดยเลี่ยงจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นเขตห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทุกชนิด" นายชำนาญกล่าว

หวัดนก2

สนอ.ห่วงเขตพระนครแหล่งนกพิราบ

นายประสาน บำรุงพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย(สนอ.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกว่า ในส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมามีพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชั้นนอก เช่น เขตลาดกระบัง หนองจอก เป็นต้น นอกจากนี้ กทม.ยังมีความเป็นกังวลในพื้นที่เขตพระนคร ซึ่งมีนกพิราบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งบริเวณแยกสีลมในเขตบางรัก ที่นกแอ่นอพยพจากแถบไซบีเรียเข้ามาที่บริเวณดังกล่าวเป็นประจำนั้น ในเบื้องต้นขอความร่วมมือไปยังประชาชน พยายามอย่าให้อาหารเพื่อให้นกอยู่ไม่ได้

นายประสานกล่าวว่า หากพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่านกเหล่านี้เป็นบ่อเกิดเชื้อไข้หวัดนกอาจจะใช้วิธีคุมกำเนิด ด้วยการหาสารเคมีบางชนิดให้นกกิน เพื่อควบคุมไม่ให้นกเพิ่มจำนวนมากไปกว่านี้ และหากพบว่ามีนกตายเป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าวรวมไปถึงพื้นที่อื่น อาจจะต้องใช้วิธีฆ่า ซึ่งจะเป็นวิธีสุดท้ายที่ กทม.จะทำ

นายนพดล สะวิคามิน ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า ภายในเขตพระนครมีนกพิราบจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณท้องสนามหลวงและเสาชิงช้า ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการระบาดของไข้หวัดนกที่มาจากนกพิราบ แต่ทางเขตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบพื้นที่โดยตลอด หากพบว่ามีนกพิราบตายพร้อมกันเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน ให้รีบแจ้งไปทางสำนักอนามัยทันที

นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก กล่าวว่า ขณะนี้ฝูงนกแอ่นดังกล่าวยังไม่ได้อพยพเข้ามาในพื้นที่ แต่หากนกเริ่มอพยพเข้ามาจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบทันที โดยเฉพาะปัญหาการตายของนกที่ผิดปกติ รวมทั้งจะให้เจ้าหน้าที่ออกทำความสะอาดขี้นกเพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ด้วย

พบไก่ตายอีกที่อยุธยาเร่งส่งเชื้อตรวจ

ขณะที่หลายพื้นที่เร่งทำลายไก่ โดยนายศิริพงษ์ กันตระกูล ปศุสัตว์อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รับแจ้งจาก นายธีรพล เข็มนาค อายุ 18 ปี อยู่เลขที่ 109 หมู่ 2 ต.คลองสะแก อ.นครหลวง ว่าไก่ชนที่เลี้ยงไว้ตายเกือบหมดเล้า จึงไปตรวจสอบพร้อมนายวิเชียร ภู่เสวก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คลองสะแก พบว่าในเล้ามีไก่ชนตาย 15 ตัว ยังเหลืออีก 5 ตัว จึงเก็บอุจจาระไก่ที่ตายไปตรวจสอบ จากนั้นนำซากไก่ใส่ถุงปุ๋ยไปทำลาย และฉีดยาฆ่าเชื้อรอบเล้าไก่

นายศิริพงษ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไข้หวัดนกหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนอากาศ แต่สั่งให้ทำลายไก่ที่เหลือแล้ว ซึ่งจากการสืบทราบและรายงานของคนในท้องถิ่นทราบว่าใน อ.นครหลวง มีผู้เลี้ยงไก่ชนทุกหมู่บ้านรวม 74 หมู่ มีไก่ตาย แต่ไม่ทันเข้าไปตรวจสอบก็ฝังทำลายแล้ว สำหรับรายนี้เป็นรายแรกที่พบและตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อไข้หวัดนกจะทำลายไก่ในรัศมีทันที เพื่อความปลอดภัย

นายสุรชน ต่างวิวัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กล่าวอ้างว่าฟาร์มนกกระทาในนครปฐมติดเชื้อไข้หวัดนกและได้ทำลายไปแล้ว เป็นเพราะฟาร์มนกกระทาแห่งแห่งหนึ่งใน จ.อ่างทอง ขนย้ายไปส่งให้นั้น ข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอน ไม่พบว่ามีการติดเชื้อ และยังคงเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจพิสูจน์อย่างต่อเนื่อง

สวีเดนเร่งพิสูจน์เชื้อสายพันธุ์จากเป็ดตาย

ส่วนในต่างประเทศนั้น สำนักข่าวเอเอฟพี และรอยเตอร์ รายงานจากกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน หลังสถาบันสัตวบาลแห่งชาติสวีเดนออกมายืนยันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ว่าผลจากการทดสอบตัวอย่างเป็ดที่เสียชีวิต 7 ตัว จากเมืองเอสคิวสตูนา ห่างจากกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงไปทางตะวันตกราว 100 กิโลเมตร พบว่าเป็ดที่เสียชีวิต 1 ตัว ติดเชื้อไวรัสหวัดนก

นางกูนิลลา ฮอลล์เกรน โฆษกของสถาบันสัตวบาลแห่งชาติ เผยว่า อาจต้องใช้เวลาหลายวัน เพื่อพิสูจน์ว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 หรือไม่ อย่างไรก็ดี ทางสถาบันหวังว่าอาจเป็นแค่เชื้อไวรัสหวัดนกธรรมดา ซึ่งในช่วงนี้ของทุกๆ ปี จะมีสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัสหวัดนกราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารด้านการเกษตรของสวีเดนได้แนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทางภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศเลี้ยงไก่ในที่ร่ม แบบมีขอบเขตจำกัดหากเป็นไปได้ หรือไม่ก็เลี้ยงในพื้นที่ที่มีการป้องกันเป็นอย่างดี

เอเอฟพีรายงานจากกรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบีย ว่าเชื้อไวรัสหวัดนกที่พบในฟาร์มไก่ทางภาคกลางของประเทศ เป็นเพียงเชื้อหวัดธรรมดา คือเป็นสายพันธุ์เอช 9 เอ็น 2 ไม่ใช่สายพันธุ์มรณะเอช 5 เอ็น 1 ทั้งจากผลการตรวจสอบจากห้องทดลองของรัฐบาลสหรัฐ หลังพบไก่ตายในฟาร์มท ี่เมืองเฟรสโน ห่างจากกรุงโบโกตาไปทางใต้ราว 200 กิโลเมตร เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

อียูเตรียมแบนนำเข้านกป่าทั่วโลก

เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม กรมสิ่งแวดล้อมกิจการด้านอาหารและการเพาะปลูก(เดฟรา) เผยว่า รัฐบาลอังกฤษได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป(อียู) เพื่อให้มีคำสั่งห้ามการนำเข้านกป่าทุกชนิดจากทั่วโลก หลังพบว่านกแก้วที่นำเข้าจากประเทศสุรีนัมในแอฟริกาใต้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสหวัดนก

ขณะเดียวกันเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั้งในอังกฤษ สวีเดน และโครเอเชีย ต่างกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่าสัตว์ปีกที่เสียชีวิตลงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหวัดนกสายพันธุ์มรณะเอช 5 เอ็น 1 ที่ทำให้คนเสียชีวิตได้หรือไม่ ทั้งนี้ เดฟราเผยด้วยว่าจนถึงขณะนี้อียูยังคงมีคำสั่งห้ามการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศต่างๆ ที่พบเชื้อไวรัสหวัดนก อาทิ โรมาเนีย ไทย หรือตุรกี

นอกจากนี้ ราชสมาคมเพื่อการคุ้มครองสัตว์(อาร์เอสพีซีเอ) และราชสมาคมเพื่อการคุ้มครองนก(อาร์เอสพีบี) ของอังกฤษ ยังได้ร้องเรียนไปยังอียูเพื่อให้มีคำสั่งห้ามการนำเข้านกป่าด้วย หลังจากอังกฤษประกาศว่านกแก้วตายจากการติดเชื้อไวรัสหวัดนก

รอยเตอร์รายงานจากโครเอเชียว่า เจ้าหน้าที่ทางการโครเอเชียได้เริ่มฆ่าสัตว์ปีกบริเวณรอบๆ บ่อปลาที่มีการยืนยันพบเชื้อไวรัสหวัดนกครั้งแรกจากหงส์ที่เสียชีวิตแล้ว โดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรโครเอเชียเผยว่า สัตว์ปีกราว 10,000 ตัว ในฟาร์มประมาณ 1,000 แห่ง และที่เลี้ยงไว้ในบริเวณบ้านภายในรัศมี 3 กิโลเมตรจากบึงดังกล่าว จะถูกฆ่าทั้งหมดภายในไม่กี่วันนี้

จีนเตรียมปิดชายแดนกันคนสู่คน

รอยเตอร์อ้างรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ของฮ่องกงว่า ทางการจีนจะปิดชายแดน หากพบว่าเชื้อไวรัสหวัดนกระบาดจากคนสู่คนในประเทศ โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานอ้างคำกล่าวของนายหวง เจียฟู รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขจีน ที่ระบุว่า การปกป้องชีวิตมนุษย์ถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลจีน ที่จะดำเนินการในความพยายามเพื่อจำกัดขอบเขตของการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจก็ตาม ขณะที่ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีรายงานว่าฟาร์มทางภาคเหนือของจีนในมองโกเลียมีการระบาดของเชื้อไวรัสหวัดนก ครั้งแรกในรอบกว่าสองเดือน โดยมีสัตว์ปีกตาย 2,600 ตัว และมีการฆ่าสัตว์ปีกไปแล้วถึง 91,000 ตัว ทั้งนี้ จีนได้เริ่มมาตรการเข้มงวดในการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหวัดนกแล้ว รวมไปถึงการกักตุนยาและวัคซีนป้องกัน

เพิ่มเพื่อน