หน้าหลัก | สุขภาพดี
| สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน
"ครม." ถกปัญหาไข้หวัดนกระบาด ระลอก 3
- น.พ.สุรพงษ์ แถลงว่า เรื่องเกี่ยวกับไข้หวัดนก ได้มีการรายงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มายังคณะรัฐมนตรี ซึ่งสถานการณ์ไข้หวัดนกในปัจจุบันนี้ พบว่า สถานการณ์ไข้หวัดนกในสัตวปีกมีพื้นที่ที่พบเชื้อไข้หวัดนกและอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังที่ยังไม่ครบ 21 วัน ณ วันที่ 24 ต.ค.2548 รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด 10 อำเภอ 17 จุด คือ 17 ตำบล ประกอบด้วย สุพรรณบุรี 1 จุด ใน 1 อำเภอ จ.กาญจนบุรี 4 จุด ใน 2 อำเภอ จ.นครปฐม 4 จุด ใน 2 อำเภอ จ.กำแพงเพชร 6 จุด ใน 3 อำเภอ และ จ.นนทบุรี 2 จุด ใน 2 อำเภอ นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วยที่มีการเฝ้าระวังและมีการสอบสวนโรค ก็พบว่าผู้ป่วยที่ยืนยันไข้หวัดนกรวม 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.กาญจนบุรี ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยเป็นไข้หวัดนก 1 ราย เป็นผู้ชายจาก จ.นครปฐม เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2548 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐมเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2548 ซึ่งเมื่อได้ทำการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอโดยวิธี Rapid test แล้ว ได้ให้ผลบวก ผลการถ่ายภาพรังสีทรวงอกพบความผิดปกติเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขั้นปอดอักเสบ ขณะนี้อาการดีขึ้น อยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีประวัติว่าผู้ป่วยเลี้ยงไก่แจ้และเป็ดประมาณวันที่ 20 ต.ค. เริ่มตายจากอาการน้ำลายฟูมปาก
- น.พ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นก็มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบ ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนทั้งหมด 17 ราย จาก จ.สุพรรณบุรี 5 ราย นครปฐม 3 ราย กาญจนบุรี สระบุรี สุโขทัย จังหวัดละ 2 ราย และบุรีรัมย์ ปทุมธานี ชัยภูมิ จังหวัดละ 1 ราย ทั้งนี้ นี่คือสถานการณ์ทั้งในส่วนของสัตว์ปีกและคน ซึ่งในส่วนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกในขณะนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเข้มงวดในการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีก ให้มีการเอ็กซเรย์ในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 21 จังหวัด ให้มีการทำลายเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายของโรค และยังได้มีการออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงในพื้นที่ที่พบเชื้อโรคไข้หวัดนก และมีการเข้มงวดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ซึ่งมาตรการ เช่น ห้ามนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงภายในรัศมี 10 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรคไข้หวัดนกเป็นระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ทำลายสัตว์ปีกตัวสุดท้าย และให้ทำลายเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์
-
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังให้มีการดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ ตามโครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2548 ในพื้นที่ 21 จังหวัด ซึ่งมีดังนี้ สุพรรณบุรี ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี นนทบุรี นครนายก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุทัยธานี ตาก นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสาคร และให้มีการรายงานสัตว์ปีกป่วยตายทุกวัน หากไม่มีสัตว์ปีกป่วยตายก็ต้องรายงานด้วย ให้มีการดำเนินการทำลายเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ 21 จังหวัดข้างต้น ทำลายเชื้อโรคทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ส่วนในพื้นที่ที่พบเชื้อโรคไข้หวัดนก ให้ทำลายเชื้อโรคทุกๆ สัปดาห์ อย่างน้อย 3 ครั้ง และมีการเข้มงวดในการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีก หากฝ่าฝืนหรือพบการกระทำผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินคดี และยึดสัตว์ของกลางทำลาย โดยห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรคเป็นอย่างน้อยเวลา 30 วัน
- น.พ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่ง ให้มีการสุ่มตรวจเป็ดไล่ทุ่งทุกฝูงในทุกๆ 2 สัปดาห์ หากพบเชื้อโรคไข้หวัดนก ให้ดำเนินการทำลายทั้งฝูงทันที ทั้งนี้ ให้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งห่างจากสัตว์ปีกชนิดอื่นและชุมชน และจะต้องผลักดันเข้าสู่ระบบโรงเรือนหรือฟาร์มให้ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ยืนยันผลห้องปฏิบัติการที่พบเชื้อโรคไข้หวัดนก ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตโรคระบาดสำหรับสัตว์จำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน รวมถึงไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการดำเนินการโดยที่ให้ตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกระดับจังหวัด ระดับอำเภอและให้มีการประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้ครอบคลุมเนื้อหาทุกแง่มุมของการป้องกันโรค ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ให้คำแนะนำเรื่องเกี่ยวกับการที่จะปรุงอาการที่ทำจากสัตว์ปีกให้สุก เพื่อกินได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้นก็มีการกำหนดให้กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ให้แพทย์ที่ดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยนั้น ปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด และหากมีความจำเป็นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปโดยเร็ว
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจและปอดสัมผัสโรค แพทย์ตรวจรักษาอนุญาตให้กลับบ้านได้ ก็ต้องมีการติดตามตรวจดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ทุกวัน โดยให้มีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่นั้นตรวจจนกระทั่งผู้ป่วยปลอดภัยจากโรค และกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดเตรียมเวชภัณฑ ์และอุปกรณ์ป้องกันโรคอย่างเพียงพอสำหรับบริการประชาชน สำหรับในพื้นที่ปกติ ให้ อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกเยี่ยมบ้านทุกวันและหากมีการพบสัตว์ปีกป่วย หรือตายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที อันนี้คือสถานการณ์ปัจจุบัน
-
นอกจากนั้นนายกฯได้ให้มีการจัดประชุมระดมความเห็น เพื่อหาแนวทางป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างยั่งยืน โดยเน้นนโยบายคือรับฟังความเห็นจากภายนอก โดยขอให้รองนายกฯ พินิจ จารุสมบัติ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุขไปเตรียมจัดประชุมระดมความเห็น โดยนายกฯจะเป็นประธานเอง โดยให้มีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยฝ่ายวิชาการในประเทศ องค์กรต่างประเทศและตัวแทนผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ท่านนายกฯเน้นพิเศษว่าขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ก.เกษตรฯ ก.สาธารณสุข ก.มหาดไทย ก.พาณิชย์ ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาและจัดระบบป้องกันโรคอย่างใกล้ชิดและจริงจัง อันนั้นเป็นเรื่องไข้หวัดนก