อาการทางผิวหนังและเยื่อเมือก ผู้ป่วยเอสแอลอี
ผื่นผิวหนังในโรคเอสแอลอี SLE มีอาการแสดงได้หลายแบบ โดยได้มีการแบ่งกลุ่มของอากการทางผิวหนังของโรคเอสแอลอี SLEตาม the Gilliam classification system for LE skin disease เป็นกลุ่มผื่นที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง (LE specific) ซึ่งมักพบเฉพาะในโรคเอสแอลอีSLE พบในภาวะอื่น ๆ ได้น้อย และผื่นที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจง (LE non-specific) อาจพบในโรคอื่น ๆ หรือในภาวะอื่น ๆ
ผื่นที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงในโรคเอสแอลอี SLE
อาจแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มซึ่งเป็นการแบ่งตามพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อผิวหนังลักษณะอาการแสดง และพยากรณ์โรค
- ผื่นSLEเฉียบพลัน (acute cutaneous lupus erythematosus, ACLE) เป็นลักษณะผื่นผิวหนังที่สามารถหายได้โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นได้แก่ ผื่นSLEเฉียบพลันเฉพาะที่ เช่น ผื่นรูปผีเสื้อที่หน้า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นที่บริเวณแก้มทั้งสองข้าง และเชื่อมกันที่บริเวณสันของจมูก แต่มักจะไม่มีผื่นบริเวณร่องแก้มข้างจมูกทั้งสองข้าง ผื่นนี้อาจมีลักษณะผิวหนังแดงกว่าปกติ หรือเป็นผื่นที่ผิวหนังยกนูนขึ้น ส่วนผื่นSLEเฉียบพลันชนิดกระจาย ได้แก่ ผื่นแพ้แสง ผิวหนังของผู้ป่วย จะมีปฏิกิริยาไวต่อการสัมผัสแสงแดดมากกว่าคนปกติ คือ สัมผัสแสดงแดดในปริมาณน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ผิวหนังทั่วไป แต่เกิดความผิดปกติต่อผิวหนังของผู้ป่วย บริเวณผิวหนังที่พบความผิดปกติ มักเป็นผิวหนังบริเวณนอกร่มผ้า เช่น หน้า หน้าอกเหนือคอเสื้อและแขน ผื่นแพ้แสงจะต่างจากภาวะเกรียมแดด (sunburn) เพราะภาวะเกรียมแดดเป็นอาการของผิวหนัง ที่ได้รับอันตรายจากแสงแดด ผื่นผีเสื้อบนใบใหน้า
- ผื่นกึ่งเฉียบพลัน (subacute cutaneous lupus erythematosus, SCLE) เป็นผื่นที่มีลักษณะพิเศษคือ เป็นผื่นวงกลมหลายวงซึ่งอาจเชื่อมต่อกันมีของแดงเป็นสะเก็ด แต่ตรงกลางของผื่นเป็นผิวหนังปกติ (annular-polycyclic) หรือเป็นลักษณะผื่นมีสะเก็ด (papulosquamous) ซึ่งผื่นชนิดนี้บางครั้งแยกยากจากผื่นในโรคสะเก็ดเงิน
- ผื่นSLEเรื้อรัง (chronic cutaneous lupus erythematosus, CCLE) เป็นลักษณะผื่นผิวหนังที่เมื่อผื่นหายอักเสบแล้วจะทิ้งรอยแผลเป็น เช่น ผื่นดีสคอยด์ (classic discoid LE [DLE]) ซึ่งผื่นนี้ขณะเกิดขึ้นใหม่จะมีลักษณะกลมหรือรีหนึ่งวงหรือหลายวง แต่ละวงอาจเชื่อมต่อกันขอบของบริเวณที่เป็นผื่นจะแดง ราบหรือยกนูนและเป็นสะเก็ด ตรงกลางของผื่นจะมีลักษณะของรูขุมขนที่ขยาย และมีสารเคอราตินอุดตัน เรียก follicular plugging หากดึงสะเก็ดชั้นหนังกำพร้าส่วนผิวบนที่ลอกขึ้นมา จะเห็นแท่งของเคอราตินที่อุดรูขุมขนนี้ติดขึ้นมาเป็นแท่ง บนชั้นผิวหนังตาย ที่เป็นแผ่น คล้ายลักษณะการตอกตะปูบนพรมเช็ดเท้าที่ใช้ขูดโคลนพื้นรองเท้า จึงเรียกลักษณะนี้ว่า carpet tack sign ผิวหนังตรงกลางผื่นนี้จะมีการฝ่อของโครงสร้างผิวหนัง จึงมีลักษณะเป็นแผลเป็น (central atrophic scarring) และอาจเห็นหลอดเลือดฝอยที่ขยายตัว (telangiectasia) ซึ่งลักษณะของผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความรุนแรง และระยะเวลา ดังนั้น ผู้ตรวจผู้ตรวจอาจไม่สามารถเห็นลักษณะทั้งหมดพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะหากพบผื่นนี้หลังจากที่โรคสงบนานมากแล้ว อาจเห็นเป็นเพียงบริเวณผิวหนังที่มีสีซีดขาวเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งอาจทำให้สับสนกับลักษณะผิวหนังที่พบในโรคด่างขาวได้ ผื่นดีสคอยด์นี้อาจแบ่งเป็นผื่นดีสคอยด์เฉพาะที่ (Localized DLE) และผื่นดีสคอยด์แบบกระจาย (generalzed DLE) หรือผื่นดีสคอยด์ที่มีการหนาตัว (hypertrophic/verrucous DLE) ผู้ป่วยที่มีผื่นดีสคอยด์นี้อาจมีเพียงผื่น แต่ไม่มีอาการผิดปกติของระบบอื่นในร่างกาย มีเพียงร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยผื่นดีสคอยด์เท่านั้นที่เกิดอาการของโรคSLE นอกจากนี้ผื่นSLEเรื้อรังที่พบได้บ่อย ได้แก่ ชั้นใต้ไขมันอักเสบเรียก lupus paniculitis ในกลุ่มนี้ชั้นหนังกำพร้าที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันไม่มีความผิดปกติ ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีผิวหนังบริเวณที่มีใช้ใต้ไขมันหนา ๆ เช่น แก้ม แก้มก้น ท้องขาอักเสบเป็นสีม่วงแดง กดเจ็บ คลำได้ก้อนนูนใต้ผิวหนัง และเมื่ออาการอักเสบนี้สงบลง ผิวหนังดังกล่าวจะยุบตัวลงเป็นหลุมเนื่องจากมีการฝ่อตัวไปของไขมันชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนลักษณะผิวหนังที่มีชั้นใต้ไขมันอักเสบ ร่วมกับมีชั้นหนังกำพร้าที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันมีลักษณะ DLE ร่วมด้วยเรียก lupus profundus ฯลฯ
- ผื่นSLEชนิดเป็น ๆ หาย ๆ (Intermittent cutaneous lupus erythematosus, ICLE) ได้แก่ lupus erythematosus tumidus เดิมถูกจัดกลุ่มอยู่ในผื่นSLEเรื้อรังแต่ต่อมาพบว่ามีพยากรณ์โรคที่ต่างจากผื่นSLEเรื้อรังชนิดอื่น จึงถูกจัดอยู่แยกต่างหาก lupus tumidus เป็นผื่นที่มีลักณะเป็นตุ่มนูน หรือปื้นหนาคล้ายลักษณะผื่นลมพิษ โดยผื่นชนิดนี้จะมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าผื่นSLEเรื้อรังอื่น สามารถหายได้เองภายในระยะเวลาสั้น ๆ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
- ถุงน้ำในโรคSLE (bullous lupus erythematosus) มีลักษณะเป็นถุงน้ำในชั้นหนังกำพร้า แตกง่าย และมีการกระจายของถุงน้ำได้ทั่วไป
ผื่นที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงในโรคเอสแอลอี SLEได้แก่
- ผมร่วง เป็นอาการที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่จะมีลักษณะผมร่วงกระจายทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะบริเวณขมับผม จะพบมีผมบางเป็นพิเศษ ผู้ป่วยจะมีผมร่วงถึงแม้จะไม่มีแรงกระทำภายนอก ซึ่งสังเกตได้จากผมที่ร่วงติดหมอน ส่วนผมร่วงเฉพาะขระสระผม หรือหวีผมนั้นอาจพบได้ในคนปกติทั่วไป เส้นผมของผู้ป่วยอาจมีลักษณะเปราะแตกหักง่ายซึ่งต้องแยกจากผมในผู้ป่วยโรคไทรอยด์ทำงานต่ำ
- ผื่นผิวหนังเนื่องมาจากภาวะหลอดเลือดอักเสบ เช่น ผื่นหลอดเลือดอักเสบบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ผื่นผิวหนังรอบเล็บอักเสบ (periungual vasculitis) ผื่นหลอดเลือดอักเสบตามแขนขาที่มีลักษณะเป็นจุดแดงนูน (palpable purpura) ผื่นลมพิษจากหลอดเลือดอักเสบ (urticarial vasculitis) ตุ่มใต้ผิวหนังนูนแดง (periarteritis nodosalike cutaneous lesions) หรือแผลอักเสบอันเนื่องมาจากหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis ulcer) นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการทางผิวหนังที่พบในโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่น ๆ เช่น rheumatoid nodules หรือ calcinosis cutis เป็นต้น
- อาการของเยื่อเมือก ที่พบบ่อยได้แก่ แผลในปาก ซึ่งมักพบบริเวณเพดานปาก ลักษณะแผลในปากจะเป็นแผลถลอกที่มีการหลุดลอกของเยื่อบุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บบริเวณแผล แต่บางรายอาจมีอาการเจ็บได้บ้าง แผลลักษณะเดียวกันนี้ บางครั้งจะพบได้ในโพรงจมูกเช่นกัน ส่วนที่บริเวณริมฝีปากนั้นสามารถพบแผลที่ริมฝีปากจากโรคSLEเรียก lupus chelitis หรืออาจพบผื่นดีสคอยด์ที่ริมฝีปากได้เช่นกัน