ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการลดการสร้างกรดยูริกโดยการยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase (xanthine oxidase inhibitor) ที่สำคัญ ได้แก่ ยา allopurinol ยานี้ควรพิจารณาใช้ในรายที่
- ไม่สามารถใช้ยาเร่งการขับกรดยูริก ออกทางไตหรือใช้แล้วไม่ได้ผล
- มีประวัติหรือมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- มีไตทำงานบกพร่อง
- มีปริมาณการขับกรดยูริกออกทางไตมากกว่า 800 มก./วัน
- หรือมีก้อนโทฟัส
ผลข้างเคียงของยา allopurinol พบได้ไม่ค่อยบ่อยและมักไม่ค่อยรุนแรง ซึ่งผลข้างเคียงส่วนใหญ่ได้แก่
- ผื่นแพ้ยาซึ่งพบได้ประมาณ ร้อยละ 2
- และอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง
- และอาการปวดศีรษะ ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงจะดีขึ้นเมื่อลดขนาดยาลง
- มีส่วนน้อยที่เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงที่เรียกว่า allopurinol hypersensitivity syndrome พบได้ประมาณร้อยละ 0.1-0.4 ซึ่งมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญ คือ
- ไข้
- ผื่นแพ้ยาอย่างรุนแรง ที่พบได้ตั้งแต่ผื่นแดงทั้งตัว (generalized erythroderma) ผื่นลอกทั้งตัว (exfoliative dermatitis) และกลุ่มอาการ Steven-Johnson (Steven-Johnson syndrome)
- และพบตับอักเสบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตับวาย (hepatic failure)
- เม็ดเลือดขาวในเลือดสูงพร้อมกับมีอีโอซิโนฟิลเพิ่มขึ้น
- และไตทำงานบกพร่อง
การแพ้ยาชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 25 ของผู้ป่วย จึงควรระมัดระวังการใช้ยา allopurinol ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตทำงานบกพร่องหรือรับประทานยากลุ่ม sulfa หรือ ampicillin ร่วมด้วย
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยได้รับยา allopurinol ในการรักษาผู้ป่วยโรคเกาต์อย่างไม่เหมาะสม ผู้ป่วยที่มีหน้าที่ไตทำงานบกพร่อง ควรปรับขนาดเริ่มต้นตามค่า creatinine clearance แต่ถ้าหากว่าการใช้ยาระดับดังกล่าวไม่สามารถคุมระดับกรดยูริกได้ ให้ค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาจนคุมระดับกรดยูริกได้ตามเป้าหมาย
ส่วนในรายที่แพ้ยา allopurinol และมีความจำเป็นต้องใช้ยา อาจพิจารณาทำ allopurinol hyposensitization ซึ่งพบว่าได้ผลสำเร็จประมาณร้อยละ 70 และมีเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้นที่ไม่สามารถรับยาได้อีก
ในรายที่แพ้ยา allopurinol ในต่างประเทศจะมียา febuxostat ซึ่งเป็นยา xanthine oxidaseinhibitor ซึ่งมีความจำเพาะมากกว่าและได้รับอนุมัติให้ใช้แล้วจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา หรืออาจใช้ยา oxypurinol ซึ่งเป็นเมตะโบไลท์ของยา allopurinol แต่ก็มีรายงานว่าผู้ป่วยที่แพ้ยา allopurinol สามารถแพ้ยา oxypurinol ได้สูงถึงร้อยละ 50