ฟอสฟอรัสคืออะไร
ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ทำงานร่วมกับแคลเซียม มีหน้าที่เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน หน้าที่อื่นๆ เช่น กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ ปกติเมื่อฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึม อีกส่วนหนึ่งที่เหลือในเลือดจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังประสิทธิภาพในการขับฟอสฟอรัส จะลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด
- ระดับฟอสฟอรัสปกติในเลือด 3.5 – 5.5 mEq/L
- ระดับฟอสฟอรัสต่ำในเลือด < 3.5 mEq/L อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ระดับฟอสฟอรัสสูงในเลือด > 5.5 mEq/L คันตามผิวหนัง หลอดเลือดแดงแข็ง มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์โต กระดูกบางและเปราะ
อาหารและฟอสฟอรัสสำคัญอย่างไร
ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มักมีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง ร่างกายจะรักษาระดับฟอสฟอรัสให้อยู่ในระดับปกติ โดยมีตัวช่วย คือ แคลเซียมและฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (เมื่อเกิดภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง จะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์มากขึ้น เพื่อผลิตฮอร์โมนเร่งการสลายแคลเซียมในกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้กระดูกบาง) ฟอสฟอรัสที่สะสมมากน้อยมักขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคจากอาหารด้วย การควบคุมระดับฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการควบคุมอาหารร่วมกับการฟอกเลือด จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อาหารที่มีฟอสเฟตสูง อยู่ที่ไหนบ้าง
- นมและผลิตภัณฑ์ เช่น นมสดรสจืด ชนิดหวาน นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมข้น นมผง นมปรุงแต่งกลิ่นรส นมเปรี้ยว โยเกิร์ตชนิดข้นและชนิดดื่มได้ ไอศกรีม คัสตาร์ดครีม ชีส ช็อกโกแลต และเนยแข็งทุกชนิด เป็นต้น
- ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ เช่น ถั่วคั่ว ถั่วทอด เนยถั่ว นมถั่วเหลือง ลูกชุบ กระยาสารท เต้าฮวย และเต้าหู้ เป็นต้น
- เมล็ดพืชแห้ง ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์มอลต์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ลูกเดือย งาดำ เครื่องดื่มธัญพืชต่างๆ
- อาหารโปรตีนสูงบางชนิด เช่น เครื่องในสัตว์ แมลง ไข่แดงและอาหารที่ทำจากไข่แดง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา บะหมี่ มายองเนส สลัดครีม)
- อาหารที่บริโภคได้ทั้งกระดูก เช่น กุ้งแห้ง ปลากรอบ ปลาเล็กปลาน้อย ครีบปลา
- อาหารเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น (ใส่ฟอสเฟตเพื่อให้มีลักษณะหยุ่นๆ)
- อาหารทะเลแช่แข็ง เช่น กุ้ง ปลาทะเล แล่เป็นชิ้นแล้วแช่แข็ง
- เครื่องดื่มสีเข้ม เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มโกโก้ โคล่า เบียร์
- อาหารที่ทำจากยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ โดนัท ขนมอบ เบเกอรี่ เค้ก แป้งซาลาเปา หมั่นโถว
- อาหารที่มีลักษณะเป็นผง เช่น น้ำตาลป่น นมผง เกลือป่น ครีมผง ผงเครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆ(ใส่ฟอสเฟตเพื่อไม่ให้จับตัวกันเป็นก้อน)
หมายเหตุ เมื่อระดับฟอสฟอรัสในเลือดอยู่ที่ 5.0- 5.4 mEq/L ต้องเริ่มระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เนื่องจากระดับฟอสฟอรัสจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รู้ไว้ใช่ว่า
- ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์ ที่เป็นสารปรุงแต่งอาหารหรือสารกันบูด ในอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มต่างๆ ร่างกายสามารถดูดซึมได้มากกว่าฟอสฟอรัสที่มาจากอาหารธรรมชาติ ทำให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้นได้เร็ว
ทบทวนวันที่
โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว