หน้าที่และโครงสร้างระบบขับปัสสาวะ
ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ( Urinary system ) เป็นระบบที่ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่าง ทำหน้าที่ร่วมกันในการทำน้ำปัสสาวะ เก็บน้ำปัสสาวะชั่วคราว และ ขับน้ำปัสสาวะออกทิ้ง เพื่อเป็นการรักษาสภาวะสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายในของร่างกาย
อวัยวะในระบบขับถ่ายปัสสาวะที่สำคัญ ได้แก่
- ไต ( Kidneys ) เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของระบบนี้ มี 2 อัน รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วดำขนาด 10 x 5.5 เซนติเมตร อยู่บริเวณในช่องท้องสองข้างของกระดูกสันหลังระดับเอว ทำหน้าที่กรองสาร ดูดซับน้ำ ไอออน และสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายกลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับไอออน และสารอื่นๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ หรือมากเกินพอ ออกจากร่างกาย เพื่อการปรับสมดุล ความเป็นกรด–ด่างของร่างกาย โดยไตจะขับปัสสาวะออกมาเรื่อยๆ ประมาณ 1 มิลลิลิตร/นาที สู่ท่อไตทั้งสองข้าง
- ท่อไต ( Ureters ) เป็นท่อ 2 อัน ที่นำน้ำปัสสาวะออกมาจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะ ( Urinary bladder ) เป็นถุงที่เก็บสะสมนํ้าปัสสาวะ ผิวด้านในมีรอยย่นเรียก รูแก ซึ่งจะขยายออกได้ กระเพาะปัสสาวะปกติมีความจุได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อมีปัสสาวะประมาณ 210-300 มิลลิลิตร จะรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ เนื่องจากปัสสาวะไปกระตุ้นปลายประสาทที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะหดและบีบตัวเอาปัสสาวะออกมาทางท่อปัสสาวะ (urethra) เพื่อขับออกนอกร่างกาย ผู้ใหญ่ปรกติจะถ่ายปัสสาวะ 600-1600 มิลลิลิตร/วัน ในเด็กไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เพราะระบบประสาทยังไม่สมบูรณ์
- ท่อปัสสาวะ( Urethra ) เป็นท่อที่นำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกจากร่างกาย
การทำงานของไต
การทำงานของไตจะแบ่งอกเป็นสองขั้นตอน
- ขั้นแรกเลือดที่เข้าไปที่ไตจะกรองโดยหน่วยไตที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า glomeruli ซึ่งจะกรองเอาของเสียออกไป ส่วนเม็ดเลือดแดง โปรตีน จะไม่ออกนอกเส้นเลือด
- การทำงานที่ท่อไตซึ่งจะทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ และเกลือแร่ที่สำคัญกลับเข้าสู่กระแสเลือด
ไต มีหน้าที่อะไร
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายในการขับของเสีย และควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล ปกติมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเท่ากำปั้น มีอยู่ 2 อัน ถ้าไตข้างใดข้างหนึ่งเสียไตอีกข้างสามารถทำหน้าที่แทนได้ เมื่อไตเสียหน้าที่ทั้ง 2 ข้าง คือไม่สามารถกรองของเสียหรือที่เรียกว่าไตวายก็จะเกิดอาการซึ่งเกิดจากการคั่งของของเสีย และการคั่งของน้ำและเกลือแร่และการเสียสมดุลของฮอร์โมนของร่างกาย
- กำจัดของเสีย เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป เช่นพวกเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นอาหารพวกโปรตีนซึ่งจะถูกย่อยสลายเป็นยูเรีย นอกจากนั้นเนื้อเยื่อเราก็มีการสร้างและสลายตามธรรมชาติกล้ามเนื้อที่สลายก็ทำให้เกิด ครีเอดินิน ซึ่งหากเกิดการคั่งก็จะทำให้เกิดอาการซึม มึนงง เบื่ออาหาร อาเจียน หมดสติ
- ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจะถูกดูดกลับโดยเซลล์ของหน่วยไต
เช่น น้ำ ฟอสเฟต โปรตีน แคลเซี่ยม
- รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ถ้าน้ำมีมากเกินความต้องการของร่างกายเช่นดื่มน้ำมากไป ไตจะทำหน้าที่ขับน้ำออกมาทางปัสสาวะ แต่ถ้าอยู่ในภาวะขาดน้ำเช่นท้องร่วง อาเจียน เสียเหงื่อ หรือมีเลือดออกมาก ไตจะพยายามสงวนน้ำไว้ให้ร่างกายโดยการดูดซึมน้ำกลับทำให้ปัสสาวะจะมีปริมาณน้อยและเข้มข้น
- รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย ไตที่ปกติจะขับเกลือส่วนเกินได้เสมอ แม้จะรับประทานรสเค็มจัด แต่ถ้าเสื่อมสมรรถภาพทำให้ไม่สามารถขับเกลือส่วนเกิน ผู้ป่วยจะมีอาการบวมถ้ารับประทานเกลือมากเกินไป และอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด
- รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ร่างกายจะผลิตกรดทุกวัน จากการเผาผลาญอาหารโปรตีน ถ้าไตทำหน้าที่ปกติจะไม่มีกรดคั่ง ถ้าไตเสื่อมสมรรถภาพ ร่างกายจะมีปัสสาวะเป็นกรด หากมีการคั่งของกรดจะทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และหายใจหอบ
- ควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือรวมถึงสารบางชนิดผู้ป่วยโรคไต จึงมักมีความดันโลหิตสูง เพราะไตถูกกระตุ้นให้สร้างสารที่ทำให้ความดันสูง ถ้าความดันโลหิตสูงมากทำให้หัวใจทำงานหนักหรืออาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือ
แตกเป็นอัมพฤกษและอัมพาตได้
- ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน เช่นฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซี่ยม และฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ถ้าเป็นโรคไต การสร้างฮอร์โมนจะบกพร่องไป ฮอร์โมนที่ไตผลิตได้แก่
- Erythropoietin ทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง
- Renin ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิต
- vitamin D ทำหน้าที่สร้างกระดูก