การแท้งบุตร abortion
การแท้งบุตรหมายถึงการตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อ ทำให้เด็กออกมาก่อนกำหนดภายใน 20 สัปดาห์ของการการตั้งครรภ์ จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 10-25 ของการตั้งครรภ์มีการแท้งโดยที่ไม่รู้ตัว
การแท้งมักจะเกิดช่วงไหนของการตั้งครรภ์
การแท้งส่วนใหญ่จะเกิดในช่วง 13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ดังนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเอง โดยการลดความเสี่ยงของการแท้ง
สาเหตุของการแท้ง
สาเหตุของการแท้งมีได้หลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือเกิดความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งอาจจะเกิดความผิดปกติที่ไข่ หรือตัวเชื้ออสุจิ หรือช่วงที่ตัวอ่อนแบ่งตัว สาเหตุอื่นๆได้แก่
- ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน พบว่ามารดาที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ ซึ่งมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน และเป็นแหล่งอาหารสำหรับ การเจริญเติบโต หากฮอร์โมนน้อยเยื่อบุโพรงมดลูกก็มีสภาพไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ตัวอ่อนก็เจริญต่อไม่ได้จะทำให้เกิดการแท้งขึ้น
- ปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคของคุณแม่
- ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของคุณแม่
- ความผิดปกติของทารก ทารกที่แท้งในช่วงไตรมาสแรกมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ โครโมโซมของทารก สาเหตุของการแท้งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของ ทารกและการตั้งครรภ์ไข่ฝ่อ (Blighted ovum) คือ การท้องที่มีการฝังตัวของรกแต่ไม่เกิดตัวเด็ก ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสุ่มเลือกของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีความผิดปกติหรืออ่อนแอก็จะตายไป
- เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของคุณแม่ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การดื่มกาแฟปริมาณมาก การขาดสารอาหาร การสัมผัสรังสีหรือสารเคมี เป็นต้น
- มีความผิดปกติมดลูกและ ปากมดลูกของมารดาที่ทำให้มีปัญหาการเติบโตของทารก เช่นโพรงมดลูกมีผนังกั้นตรงกลาง มีมดลูกสองอัน ปากมดลูกสองอัน ช่องคลอดสองอัน หรือมีเนื้องอกของมดลูก
- อายุคุณแม่
- การได้รับอุบัติเหตุ ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนัก ยกของหนัก และการกระทบกระเทือน
ใครมีโอกาสแท้ง
หญิงเจริญพันธ์จะมีโอกาสแท้งโดยเฉลี่ย 10-25 % หญิงที่อายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อการแท้งย่อมเพิ่มมากขึ้น
- หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปีจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 15
- หญิงอายุ 35-45 ปีจะมีโอกาสแท้ง 20-35%
- หญิงอายุมากกว่า 45 ปีจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 50
- ผู้ที่เคยแท้งมาก่อนจะมีโอกาสแท้งร้อยละ 25
อาการของการแท้งบุตร
หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ควรจะปรึกาาแพทย์ของท่าน
- มีอาการปวดหลัง(มากกว่าที่เคยเป็น)
- น้ำหนักลด
- มีมูกปนเลือดไหลออกมา
- เจ็บท้องจริง
- มีเลือดออกช่องคลอด
- มีเนื้อเยื่อออกจากช่องคลอด
- อาการคนท้องหายไป
ชนิดของการแท้งบุตรมีอะไรบ้าง
การแท้งเป็นกระบวนการที่มีการขับเลือดหรือตัวอ่อนออกมา และยังแบ่งเป็นระยะอีกมาก การเรียนรู้ กระบวนการพัฒนาของเด็กในไตรมาสแรก และการตรวจวินิจฉัยของแพทย์จะทำให้ท่านทราบขั้นตอนในการดูแลตัวเอง ศัพท์ทางการแพทย์ที่มักจะพูดถึงเมื่อเกิดการแท้ง
- Threatened Miscarriage: หรือแท้งคุกคาม ตั้งครรภ์ในระยะแรกและมีเลือดออกโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ ส่วนใหญ่เลือดที่ออกเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนการที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ เป็นอาการแสดงว่ากำลังจะแท้ง หากมาพบแพทย์ทันเวลาและอาการไม่รุนแรงมาก ประมาณ 50% ของผู้ป่วยสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้โดยที่แพทย์จะต้องดูแลเป็นพิเศษ แพทย์อาจให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อจนกว่าเลือดจะหยุด หรืออาจต้องทำการเย็บผูกปากมดลูก แพทย์อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการบีบตัวของมดลูก อาจต้องนอนพักในโรงพยาบาลชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยต้องนอนพักมากๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักโดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการเดินทาง การมีเพศสัมพันธ์ และการสวนถ่ายอุจจาระ
- Inevitable แท้งหยุดไม่ได้ มีอาการปวดหลังร่วมกับเลือดออกและปาดมดลูกเปิดแล้ว และอาจจะมีน้ำคร่ำไหลปากมดลูกเปิดขยายตัวออก อาจมีชิ้นส่วนของรกออกมาจุกอยู่ที่ปากมดลูก เมื่อมาถึงระยะนี้แล้วจะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ อาการปวดท้องจะมีอยู่ในที่สุดก็จะแท้งออกมาเอง หรือหากมาพบแพทย์ แพทย์อาจทำการดูดเอาทารกออกมาให้เพื่อให้แท้งครบ
- Incomplete Miscarriage การแท้งที่มีเลือด น้ำคร่ำ และชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์ เช่น ทารก รก ถุงน้ำคร่ำบางส่วนหลุดออกมา มีบางส่วนค้างอยู่ภายในมดลูก ซึ่งการแท้งชนิดนี้จะทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี เลือดจะไหลออกมาไม่หยุดจนทำให้ช็อกได้ ดังนั้น แพทย์จะให้น้ำเกลือหรือให้เลือดเพื่อทดแทนปริมาตรของเลือดในระบบไหลเวียนเลือด แล้วทำการดูดเอาชิ้นส่วนที่เหลือออกมาให้หมด หลังจากนั้นมดลูกจะบีบตัวได้ดีขึ้นเลือดก็จะหยุดไหลไปเอง
- Complete Miscarriage แท้งครบหรือสมบูรณ์ คือตัวอ่อนและรกออกมาหมด เลือดจะออกน้อยลง ปวดท้องก็จะลดลง ตรวจ ultrasound จะไม่พบตัวอ่อน
- Missed Miscarriage หมายถึงการแท้งโดยที่คุณแม่ไม่ทราบว่าแท้ง และตัวอ่อนยังไม่ถูกขับออกทราบได้จากการทำultrasound พบตัวอ่อนที่เสียชีวิตแล้วในมดลูก การแท้งที่ทารกเสียชีวิตไปแล้วแต่ยังคงค้างอยู่ในโพรงมดลูกต่อไป 4 – 8 สัปดาห์ อันตรายที่เกิดขึ้นจากการแท้งค้างก็คือมารดาจะเกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้าผิดปกติ ทำให้มีเลือดออก เช่นเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนังทั่วตัว มีบาดแผลแล้วเลือดหยุดยาก วิธีการรักษาแท้งค้าง คือ ต้องรักษาภาวะเลือดแข็งตัวช้าผิดปกติก่อนแล้วจึงทำการดูดเอาทารกและรกออกมา
- Recurrent Miscarriage หมายถึงการแท้งซ้ำติดต่อกันสามครั้ง
- blighted ovum
- ectopic pregnancy
- molar pregnancy
การดูแลเมื่อแท้ง
หลักการรักษาผู้ที่แท้งคือระวังเลือดออก และการติดเชื้อ หากตั้งครรภ์อ่อนแล้วแท้ง ร่างกายก็สามารถขับตัวอ่อนและรกออกหมด แต่หากขับไม่หมดมีเลือดออกจะต้องทำการขูดมดลูก หากพบว่าเลือดออกไม่หยุด และมีไข้สูงหนาวสั่นต้องรีบไปพบแพทย์
การป้องกันการแท้ง
เนื่องจากการแท้งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ดังนั้นจึงไม่มีทางป้องกันได้ ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์ควรจะดูแลตัวเองให้แข็งแรง
เมื่อท่านทราบว่าตั้งครรภ์ท่านต้องดูแลอะไรบ้าง
- ระวังหน้าท้องมิให้กระทบกระแทก
- งดบุหรี่และหลีกเลี่ยงสถานที่สูบบุหรี่
- งดสุรา
- อย่าซื้อยารับประทานเอง
- ลดปริมาณกาแฟ
- หลีเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่นรังสี สารเคมี
- งดกีฬาที่คิดว่าจะเป็นอันตราย
- ฝากครรภ์กับสูติแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพโดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
- เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำคร่ำออกมาทางช่องคลอด หรือปวดท้องให้รีบมาพบแพทย์
- ระมัดระวังเรื่องการทำงานหนัก ยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง การหกล้ม การกระทบกระเทือนต่างๆ
- รับประทานอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ปริมาณมากเพียงพอ ระมัดระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะยาระบาย งดสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน นอนให้หลับ