ไขมันพอกตับ
บ่อยครั้งเมื่อคุณไปตรวจเลือดพบว่าการทำงานของตับผิดปกติมีค่า SGOT,SGPT สูง ค่าทั้งสองเป็นเอ็นไซม์ที่หลั่งออกมาจากตับ แสดงว่าตับได้รับอันตรายหรือมีการอักเสบ แพทย์จะส่งการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือที่เรียกว่า ultrasound ส่งเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัส ซี บางรายอาจจะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อไปส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย หลังจากนั้นแพทย์จะแจ้งว่าท่านเป็นไขมันพอกตับ Fatty liver ทำให้ท่านตกใจกับผลตรวจ

เซลล์ตับปกติ

เซลล์ตับที่มีไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับคืออะไร
ไขมันในตับจะมีประมาณร้อยละ5-10 ของน้ำหนักตับ ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่ไขมันโดยเฉพาะ Triglyceride ไปอยู่ในเซลล์ตับมากกว่าร้อยละ10 ของน้ำหนักตับจะถือว่าเป็นไขมันพอกตับ
ชนิดของไขมันพอกตับ
1.ไขมันพอกตับจากการดื่มสุรา
เมื่อคนที่ดื่มสุราเป็นระยะเวลานาน เซลล์ของตับจะได้รับอันตรายในระยะแรกจะมีไขมันมาพอกที่ตับ ในระยะนี้หากหยุดดื่มสุราตับก็สามารถกลับสู่ปกติได้หลังหยุดดื่มสุรา 6 สัปดาห์ แต่หากยังดื่มสุราต่อเนื่อง ตับจะกลายเป็นตับแข็งซึ่งภาวะนี้จะไม่สามารถกลับสู่ปกติ นอกจากนั้นผู้ที่ดื่มสุราอย่างมากก็เกิดไขมันพอกตับแบบเฉียบพลันได้
2.ไขมันพอกตับของคนที่ไม่ได้ดื่มสุรา
ไขมันพอกตับชนิดนี้เรียกว่า Nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) หมายถึงภาวะที่ไขมันพอกตับโดยเฉพาะ triglyceride อยู่ในเซลล์ตับ โดยที่คนคนนั้นไม่ได้ดื่มสุรา (ปกติคนดื่มสุรามานานจะมีไขมันพอกตับ) เซลล์ไขมันจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดตับอักเสบในระยะแรก จะวินิจฉัยภาวะนี้เมื่อมีไขมันในตับมากกว่าร้อยละ10ของน้ำหนักตับ
3.ไขมันพอกตับและมีการอักเสบของตับ
แต่ผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันพอกตับทำให้เซลล์ตับมีการบวมและเกิดการอักเสบของตับ เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า nonalcoholic steatohepatitis (NASH) ในที่สุดก็จะกลายเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบ และตับแข็ง
อาการของโรคไขมันพอกตับได้แก่
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง
- ผิวเหลือง
4.ไขมันพอกตับในผู้ป่วยตั้งครรภ์
เป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยตั้งครรภ์พบไม่บ่อย มักจะเกิดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาศที่3 อาการที่สำคัญ
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
- เจ็บชายโครงขวา
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- อ่อนเพลีย
ผู้ป่วยส่่วนใหญ่ดีขึ้นหลังจากคลอด
กลไกการเกิดไขมันพอกตับ
ในคนปกติระดับน้ำตาลจะถูกควบคุมโดยอินซูลินซึ่งผลิตมาจากตับอ่อน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมากมากขึ้น โดยอินซูลินจะออกฤทธิ์ที่ตับ กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันเพื่อให้ใช้น้ำตาล
ในภาวะที่ดื้อต่ออินซูลินซึ่งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์หรือจากพฤติกรรมเช่น อ้วน ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมาก จะทำให้เซลล์ต่างๆไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในขนาดปกติ ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เมื่อภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอจึงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่2 ซึ่งเมื่อเป็นมากจนกระทั่งต้องฉีดอินซูลิน
ภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เมื่อโตขึ้นร่างกายอ้วนขึ้นรับประทานอาหารที่มีแป้งเพิ่มขึ้นรวมทั้งไม่ได้ออกกำลังกายทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตับมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น
ไขมันพอกตับหายเองหรือไม่
ไขมันพอกตับสามารถหายเองได้หากเราสามารถลดความเสี่ยง หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
สาเหตุของไขมันพอกตับ
- ผู้ที่มีไขมันพอกตับโดยที่ไม่มีสาเหตุเรียก Primary
- ส่วนพวกที่มีสาเหตุเรียก Secondary สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ
- จากการดื่มสุรา alcoholic liver disease (ALD)
- จากไวรัสตับอักเสบ บี
- ไวรัสตับอักเสบซี
- จากโรคแพ้ภูมิ chronic autoimmune hepatitis (AIH
- จากโรคเบาหวาน
- จากยา เช่น prednisolone ,aspirin, steroids, tamoxifen, และ tetracycline
- การขาดอาหาร
- โรคอ้วน
- ไขมันในเลือดสูง
- พันธุกรรม
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
ควรจะพบแพทย์หากมีอาการอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงมากขึ้น
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ
มีภาวะหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ
- การผ่าตัด Gastric bypass surgery
- คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ triglycerides ในเลือดสูง
- โรคอ้วนลงพุง Metabolic syndrome
- โรคอ้วน Obesity
- Polycystic ovary syndrome
- โรคนอนกรน Sleep apnea
- โรคเบาหวานชนิดที่2
- ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดไขมันพอกตับ
- การดื่มสุรามากไป
- การใช้ยา paracetamol
- การตั้งครรภ์
- คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง
- ขาดอาหาร
- โรคอ้วนลงพุง
คนอ้วนกับการเกิดไขมันพอกตับ
การจะวัดว่าใครอ้วนหรือไม่อาจจะวัดด้วยสายตาซึ่งเป็นการบอกอย่างคร่าวๆ การจะบอกว่าอ้วนหรือไม่จะใช้ดัชนีมวลกายเป็นตัวบอก คนฝรั่งจะบอกว่าอ้วนเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ส่วนชาวไทยจะบอกว่าอ้วนเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 25 อ่านรายละเอียดที่นี่ โดยพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูงและอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคไขมันพอกตับ มีการประเมินว่าสามารถพบโรคไขมันพอกตับได้ร้อยละ 20ของประชากร ส่วนกลุ่มเสี่ยงเช่นคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูงพบว่าไขมันพอกตับได้ถึงร้อยละ 90 ต่างประเทศได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของดัชนีมวลกาย และความเสี่ยงของการเกิดไขมันพอกตับไว้ดังนี้
ดัชนีมวลกาย |
ความเสี่ยง |
---|---|
25-30 |
2 |
30-35 |
4 |
35-40 |
5 |
มากว่า40 |
6 |
สำหรับผู้หญิงก็มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดดังนี้
ดัชนีมวลกาย |
ความเสี่ยง |
---|---|
25-30 |
2 |
30-35 |
2.5 |
35-40 |
4 |
มากว่า40 |
5 |