อาการโรคหัวใจ


อาการโรคหัวใจเป็นอาการที่เกิดกับคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ บางอาการก็เป็นอาการจากหัวใจโดยตรง บางอาการก็เกิดจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่พอ ดังอาการ ข้างล่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้นการที่ แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติ อาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย บางครั้งต้องอาศัยการ ตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อแยกโรคต่างๆที่มีอาการคล้ายกัน

 

อาการโรคหัวใจ

1เจ็บหน้าอก

อวัยวะตั้งแต่ผิวหนังของทรวงอกไปจนผิวหนังของหลังจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ทั้งนั้น นอกจากนั้นอวัยวะในทรวงอก เช่น หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีโรคหรือการอักเสบก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกจะแตกต่างกัน

เจ็บร้าวมาแขนซ้าย

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจจะมีอาการปวดร้าวจากหน้าอกมายังด้านในของแขนซ้า ยหากไม่มีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดแขนซ้านก็ต้องระวังว่าจะเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือดแน่หน้าอก

  1. ตำแหน่งที่เจ็บ จะเจ็บบริเวณกลางหน้าอก หรือเยื้องไปทางซ้าย
  2. ลักษณะของการเจ็บหน้าอกจะเจ็บแน่นๆ อึดอัด เจ็บเหมือนมีเข็มขัดรัด
  3. อาการเจ็บร้าว อาจจะมีอาการเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย คอด้านซ้าย หรือกรามซ้าย บางคนคิดว่าเกิดจากปวดฟัน
  4. ความรุนแรงของอาการปวด เจ็บมากจนต้องหยุดกิจวัตรที่ทำอยู่ เช่นหยุดเดิน หรือหยุดออกกำลังกาย ต้องพักจึงจะหายปวด
  5. อาการเจ็บหน้าอกจะเกิดในขณะออกกกำลังหรือทำงานหนัก เช่นวิ่ง เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลังหรือพัก อาการเจ็บมักจะไม่เกิน 10 นาทีหรืออมยาขยายหลอดเลือดหัวใจแล้วหายปวด
  6. สำหรับผู่ที่มีอาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร พักไม่หาย อมยาก็ไม่หายปวดจะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
  7. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมากเจ็บมากกว่าเก่า เจ็บนานกว่าเก่า อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เย็นปลายมือปลายเท้า หน้ามืดเป็นลม หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลหรือโทร 1669

อาการเจ็บหน้าอกต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

  1. เจ็บเหมือนถูกของแหลมแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก เจ็บแค่ชั่วครู่
  2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
  3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ
  4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
  5. อาการเจ็บอาจจะค่อยๆเจ็บที่ละน้อย ไม่เกิดอาการเจ็บทันทีเหมือนโรคหลอดเลือดหัวใจ

2หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ

เหนื่อยบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยพบแพทย์จะบ่นเรื่อยเหนื่อยหอบ แต่คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึงอาการหายใจไม่พอ มีอัตราการหายใจมากกว่าปกติเมื่อออกำลังกาย หรือ กิจวัตรประจำวัน เมื่อเทียบกับอดีตซึ่งก่อนป่วยสามารถทำได้โดยที่ไม่เหนื่อย หรือเทียบกับคนอายุเดียวกัน แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ แต่หากไม่มีอัตราหายใจเร็วหรือชีพขจรเต้นไว ก็ถือว่าไม่ใช่หอบเหนื่อยจากหัวใจ

อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่นโรคปอดเช่นถุงลมโป่งพอง หอบหืด โลหิตจาง โรคอ้วน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ผู้ที่มีอาการรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ ต้องนอนหนุนหมอนสูง หรือนั่งหลับ

อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อยแต่เดินไปมาได้ เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ



3ใจสั่น

หัวใจเต้นสั่นพริ้วใจสั่นเป็นอาการที่ผู้ป่วยพบแพทย์ได้บ่อยใจสั่นในทางแพทย์ หมายถึงการที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ อาการดังกล่าวพบได้ในคนที่ป่วยเป็น โรคหัวใจ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด เกลือแร่ผิดปกติ โลหิตจาง ไข้ขึ้น แพทย์จะซักประวัติละเอียดถึงลักษณะของ อาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก"ใจสั่น"โดยหัวใจเต้นปกติ ซึ่งขณะที่มีอาการใจสั่นอาจจะตรวจไม่พบอะไรก็ได้

การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่น

เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะมิได้เป็นตลอด เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์อาการใจสั่นอาจจะหายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ เมื่อมาพบแพทย์แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งอาจจะปกติในขณะที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากใจสั่นมีอาการรุนแรง หรือเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่นเจ็บหน้าอก หรือเป็นลมแพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ในขณะที่ตรวจหากเกิดอาการใจสั่น หรืออาการแน่หน้าอกให้จดเวลาที่เกิดเพื่อจะได้แจ้งให้แพทย์ทราบ หรือท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น

4ขาบวม

เท้าบวมอาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือและน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต โรคหลอดเลือดดำอุดตัน ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยา และฮอร์โมนบางชนิดโดยเฉพาะยากลุ่ม NSAID โรคหัวใจ หรือ ในบางราย ไม่พบสาเหต การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถ ไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น อาการบวมมักจะเป็นตอนสายๆ เช้าตื่นมาอาจจะไม่บวมหรือบวมไม่มาก แต่สายๆจะบวมมากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบ เพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง

5เป็นลมวูบ หรือหมดสติ

โรควู๊บในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ อาการนี้ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเครง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ออก อาการวูบหรือหมดสติดังกล่าวอาจเกิดจาก ความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือ ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว "วูบ" ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำทำให้ความดันโลหิตต่ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต

6คลื่นไส้อาเจียนจุกเสียดแน่นท้อง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดบางท่านจะมีอาการจุกเสียดแน่นท้อง และคลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะสตรีจะมีอาการคลื่นไส้มากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายตับจะโตผู้ป่วยจะมีอาการจุดเสียดชายโครงขวา ดังนั้นผู้ที่มีอาการจุกเสียดบริเวณลิ้มปี่หรือชายโครงขวาหากรักาาด้วยยาแล้วไม่ดีควรจะไปปรึกาาแพทย์

7เวียนศีรษะหน้ามืด

ผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะหน้ามืดบ่อยอาจจะเกิดจากการขาดน้ำหรือลุกยืนเร็วเกินไป แต่อาจจะเกิดจากโรคหัวใจในกรณีที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง เช่นกรณีลิ้นหัวใจตีบ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวายเป็นต้น

8เจ็บคอหรือกราม

ผู้ที่มีอาการเจ็บคอหรือกรามส่วนใหญ่จะเกิดจากข้อ กล้ามเนื้อหือฟัน หากมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วร้าวมายังบริเวณคอหรือกรามต้องระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วย

9นอนกรน

คนปกติจะนอนกรนเล็กน้อย สำหรับผู้ที่นอนกรนเสียงดังมาก และมีการหยุดหายใจหลายครั้งในหนึ่งคืน ท่านจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเนื่องจากการนอนกรนจะทำให้หัวใจทำงานเพิ่ม

10มือเย็นเหงื่อออก

หากมีอาการมือเย็นเหงื่อออกร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ ให้ระวังว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ

11ไอ

ท่านที่ไอเรื้อรังโดยที่ไม่มีไข้ ไอแห้งๆ หากร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย หรือมีอาการบวมก็ให้ระวังว่าท่านอาจจะมีหัวใจวาย หากมีเสมหะปนเลือดสีออกสีชมพูก็แสดงว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด ท่านต้องรีบไปพบแพทย์


โรคหัวใจ อาการโรคหัวใจ การตรวจโรคหัวใจ การป้องกันโรคหัวใจ

เพิ่มเพื่อน