การตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่
- ร่างกายคุณแม่จะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดด้วย มดลูกจะมีการซ้อมหดรัดตัว ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่า Braxton Hicks contractions ซึ่งกล้ามเนื้อมดลูกจะมีการหดรัดตัวแข็งขึ้นประมาณ 2 -3 วินาที
- ตอนนี้ตำแหน่งของยอดมดลูกจะอยู่เหนือสะดือคุณแม่ขึ้นมาเล็กน้อย
- คุณแม่อาจรู้สึกคัดตึงเต้านมมากขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพื่อเตรียมเต้านมให้พร้อมสำหรับการให้นมบุตรภายหลังการคลอด ทำให้เต้านมยังขยายโตขึ้นเรื่อยๆ เต้านมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นรอบหัวนมจะดำ และมีฐานใหญ่ขึ้นมีตุ่มขนาดใหญ่ คุณแม่บางท่านจะเห็นเส้นเลือดบนเต้านม หน้าอกจะยังคงผลิตน้ำนมแรกซึ่งจะเป็นอาหารมื้อแรกของลูกน้อยอย่างต่อเนื่อง
- และคุณแม่อาจรู้สึกร้อนได้บ่อยๆในช่วงนี้
- ในระยะนี้จะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว เนื่องจากร่างกายมีการสะสมน้ำไว้มาก
- ผมคุณแม่จะดกและเส้นใหญ่มากขึ้น รวมทั้งมีหนวดและเคราเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการเพิ่มของฮอร์โมน อาการจะกลับสู่ปกติหลังจากคลอด
- เล็บจะงอกเร็วและแข็งกว่าปกติ
- ผิวจะมีสีคล้ำมากขึ้น มีฝ้าขึ้นบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะหากสัมผัสแสงแดดมากจะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น การป้องกันทำได้โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ถือล่มหรือ ใส่หมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30
- คุณแม่บางท่านอาจจะมีสิวมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แก้ไขโดยล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน และไม่ใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของไขมัน
- ผิวหนังจะแตกโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ผิวที่แตกอาจจะมีทั้งสีคล้ำ และสีจาง รอยแตกและสีจะดีขึ้นหลังจากคลอดไปแล้ว 6-12 สัปดาห์
- เท้าคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณแม่อาจจะต้องเปลี่ยนรองเท้า เมื่อคลอดเท้าจะมีขนาดปกติ
- คุณแม่อาจรู้สึกลูกน้อยถีบเป็นครั้งแรก ซึ่งจะแตกต่างจากการดิ้นธรรมดาที่รู้สึกในช่วงสัปดาห์
ก่อนหน้า
- คุณแม่อาจหายใจเร็วขึ้นในสัปดาห์นี้ อาการหายใจติดขัดจะเริ่มบรรเทาลง
- อาการแพ้ท้องต่าง ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 จะรวมถึง ปวดหลัง การมีตกขาวที่เพิ่มขึ้น อาการคัดจมูก และอาการเสียวฟัน เหงือกอักเสบ
- มดลูกของคุณแม่จะเริ่มฝึกตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมเวลาคลอด ด้วยการหดรัดตัวเป็นบางครั้ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า การซ้อมหดรัด
ตัวของมดลูก (Braxton-Hicks การหดรัดตัวของมดลูก)
การซ้อมหดรัดตัวของมดลูกหรือการเจ็บครรภ์หลอก
บางครั้งเรียกว่า การเจ็บครรภ์หลอก ซึ่งจะมีอาการที่แตกต่างจากการหดรัดตัวของมดลูกเวลาที่ ต้องคลอดจริง แต่อาจจะเป็นได้บ่อยๆ และคุณแม่สามารถรับรู้ได้ถึงการทำงานของกล้ามเนื้อนั้นด้วยการซ้อมหดรัดตัวของมดลูก จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยและเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ โดยในการซ้อมหดรัดตัวของมดลูกแต่ละครั้งจะใช้เวลาและระดับของการรัดตัวที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะไม่ทำให้ปากมดลูกขยาย ตรวจสอบความแตกต่าง
ในช่วงแรก คุณแม่อาจจะคิดว่า การซ้อมหดรัดตัวของมดลูกเป็นการเจ็บครรภ์จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแมที่่เพิ่งตั้งครรภ์แรก แต่หาก
รู้สึกว่ามดลูกหดตัวมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และนานกว่า 30 วินาทีในแต่ละครั้ง และอาการไม่หายไป แม้ว่าจะขยับตัว ควรรีบ
ปรึกษาแพทย์
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
- อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กนั้นจำเป็นสำหรับระบบไหลเวียนเลือดของทารกและของคุณแม่ด้วย คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยรับประทานเนื้อแดง เป็ด ไก่ ผักใบเขียวต่างๆ และธัญพืชที่มีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ควรรับประทานผลไม้ซึ่งมีวิตามิน C สูงด้วย เนื่องจาก Vitamin C นั้นช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก
- รอยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าท้องอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผิวหนังมีการขยายออกอย่างรวดเร็วและถูกดึงให้ตึงมากขึ้นโดยขนาดของมดลูกที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณแม่ควรทาครีมบำรุงผิวบ่อยๆจะช่วยลดการแตกของผิวหนังและลดอาการคันได้
- รองเท้าของคุณแม่ตอนนี้อาจจะไม่พอดีกับเท้าอีกต่อไป คุณแม่อาจไม่เชื่อว่าคุณต้องใส่รองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเบอร์เลยทีเดียว เท้าของคุณแม่จะบวมขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้มีน้ำอยู่ในเซลล์มากขึ้น ดังนั้นควรมองหารองเท้าคู่ใหม่ที่ใส่สบายกว่า และลืมรองเท้าส้นสูงไปเลย หารองเท้าที่คุณแม่เดินได้สะดวก และไม่สะดุดหกล้มได้ง่ายๆก็จะปลอดภัยมากขึ้น
อาการของคุณแม่
- น้ำหนักคุณแม่จะขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หากน้ำหนักลดลงควรจะปรึกษาแพทย์ที่ดูแลท่าน
- มีตกขาวเพิ่มมากขึ้นซึ่งคุณแม่จะต้องรักษาสุขอนามัยให้บริเวณนั้นแห้ง คุณแม่อาจจะใส่ผ้าอนามัยซึ่งจะป้องกันกลิ่น
- จุกท้องและอาหารไม่ย่อย มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะดันกระเพาะอาหารทำให้เกิดกรดไหลย้อนทำให้เกิดอาการจุกบริเวณหน้าอก การแก้ไขให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อน และหลังอาหารเนื่องจากจะทำให้อาการแย่ลง
- ท้องผูกมดลูกที่โตจะกดลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดอาการท้องผูก
- หน้ามืดเป็นลมเนื่องจากมดลูกกดหลอดเลือดทำให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจน้อยลง วิธีแก้ทำได้โดยการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว
- ตะคริวที่เท้าเนื่องจากขาดธาตุแคลเซี่ยม และแมกนีเซี่ยม วิธีแก้ไขทำได้โดยการรับประทานวิตามิน
- ผิวแตกโดยเฉพาะบริเวณท้อง สะโพก ต้นขา เต้านม วิธีแก้ทำได้โดยการใช้ครีมทาเพื่อเพิ่มความชุมชื้น
- เส้นเลือดขอด
โรคแทรกซ้อนที่เกิดกับคุณแม่
การเปลี่ยนแปลงของทารก
- ลูกน้อยจะมีขนาดประมาณ 7.5 - 8 นิ้ว ตั้งแต่ศีรษะจรดสะโพก หรือเท่ากับหัวกะหล่ำปลีและมีน้ำหนักประมาณ 1 ปอนด์
- อวัยวะต่างๆได้มีการพัฒนาไปจนเกือบสมบูรณ์แล้ว
- อัตราการเต้นของหัวใจของทารกในขณะที่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 140 – 150 ครั้ง/นาที และตอนนี้อวัยวะทั้งหมดยกเว้นปอดสามารถทำงานได้แล้ว
- หากเราได้ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองของทารกเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้น เราจะพบว่าเซลล์สมองได้มีการพัฒนาส่วนที่รับรู้สติ และทารกจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอกมากขึ้น และได้มีการพัฒนาวงจรของการหลับและการตื่น
- ปอดของทารกตอนนี้ยังเต็มไปด้วยน้ำคร่ำ และยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไปอีกหลายสัปดาห์ จนกว่าถุงลมปอดเล็กๆนั้นจะสามารถทำการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้
- ระบบทางเดินอาหารมีการพัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำคร่ำได้และทำงานอย่างเป็นระบบ ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าไปและขับถ่ายออกมาหมุนเวียนเป็นน้ำคร่ำใหม่
- ตับของทารกเริ่มทำงานโดยการสร้าง enzymes หลายชนิดซึ่งจะสลายเม็ดเลือดทำให้เกิด bilirubinซึ่งจะขับออกทางรกผ่านทางเลือดแม่.
- ระบบสืบพันธุ์จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในเพศชาย ลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนลงมา เพศหญิงรังไข่และมดลูกจะเคลื่อนลงสู่ตำแหน่งปกติและ
พัฒนาช่องคลอด ซึ่งจะมีไข่เพียงพอสำหรับการเจริญพันธุ์
- ประสาทสัมผัสและการรับรู้รสชาติของลูกน้อยจะพัฒนาขึ้นอย่างมากในสัปดาห์นี้ ต่อมรับรสจะถูกสร้างขึ้น
- ใบหน้าเล็กๆและเรียว ทำให้ดูตาโต เปลือกตาเริ่มที่จะเปิดออกได้ ทารกจะสามารถลืมตาได้แล้ว และมีขนคิ้วขึ้นบางๆ
- ผิวหนังของทารกยังคงบางมากและเหี่ยวย่น และมีขนอ่อนปกคลุมซึ่งเรียกว่า lanugo ซึ่งจะรักษาอุณหภูมิของทารก ซึ่งจะหลุดออกเมื่อคลอด และอาจจะดูเหี่ยวย่นเนื่องจากยังมีไขมันมาสะสมตามร่างกายไม่มากนัก และต่อมเหงื่อได้มีการพัฒนาขึ้นภายใต้ผิวหนัง
- นิ้วมือกำลังพัฒนา ทารกของคุณมีลายนิ้วมือแล้วในตอนนี้เช่นเดียวกับนิ้วเท้า
- ทารกจะถูกล้อมรอบด้วยน้ำคร่ำ 500 มิลลิลิตร ซึ่งจะช่วยให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และช่วยให้ทารกสามารถพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคล้ายกับการซ้อมเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย หรือบิดขี้เกียจยืดเส้นยืดสายให้หายเมื่อย ทารกสามารถเตะ ดูดนิ้ว หรือ อ้าปาก นอกจากนี้ทารกของคุณสามารถไอหรือสะอึกได้ด้วย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะทารกสามารถช่วยตัวเองได้โดยกลืนน้ำคร่ำอุ่นๆเข้าไป เพราะนี่เป็นกลไกของธรรมชาติ
- ทารกยังสามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวหรือเสียงดังจากภายนอกได้
- กระดูกในหูของทารกเริ่มแข็งขึ้นและช่วยให้สามารถได้ยินเสียงต่างๆได้ดีขึ้น ทารกสามารถแยกเสียงที่เกิดขึ้นจากภายในมดลูกและจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ลูกสามารถจดจำเสียงของคุณแม่
- ทารกเริ่มจะมีการนอน และการตื่นเป็นเวลาซึ่งอาจจะไม่สัมพันธ์กับคุณแม่
หากเด็กในช่วงนี้ (20-24 สัปดาห์)คลอดก่อนกำหนดจะไม่สามารถมีชีวิต เนื่องจากปอดและอวัยวะภายในยังพัฒนาไม่พอ
การตรวจที่สำคัญในระยะการตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์
- หากคุณแม่ไปฝากครรภ์ในระยะ 22 สัปดาห์ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะขอคุณแม่เจาะเลือดตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ นอกจากสามารถตรวจดูว่ามีความผิดปกติใดๆในร่างกายของผู้ป่วยได้แล้ว ยังสามารถตรวจดูทารกที่อยู่ในท้องของคุณแม่ได้อีกด้วยว่ามีสุขภาพสมบูรณแข็งแรงหรือไม่ ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ คุณหมอจะสามารถมองเห็นตัวของทารกได้อย่างชัดเจน สามารถวัดขนาดได้ว่าตอนนี้ทารกตัวยาวกี่เซนติเมตร สามารถเห็นการเต้นของหัวใจ และบอกได้เลยว่าทารกมีความผิดปกติของรูปร่างหรือไม่ มีหน้าตาเป็นอย่างไร อ้วนหรือผอม เป็นเพศชายหรือเพศหญิง
โรคแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในระยะนี้
ภาวะครรภ์เป็นพิษ Preeclampsia
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นครรภ์แรก และมักพบหลังจากอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ อาการของครรภ์เป็นพิษได้แก่
- น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีการคั่งของน้ำทำให้มีอาการบวมของเท้า มือ และข้อต่างๆ
- ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
- ความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90มิลิเมตรปรอท และมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญซึ่งสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยคุณแม่จะต้องร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา อ่านเรื่องครรภ์เป็นพิษ
ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด
ในระหว่างการตั้งครรภ์ปกติปากมดลูกจะปิดอยู่ตลอด แต่เมื่อใกล้คลอดปากมดลูกจะเริ่มเปิดออก การที่ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดเกิดจาก
- พันธุกรรม
- เคยได้รับการผ่าตัด
- การแท้ง
- การที่ตั้งครรภ์โดยมีจำนวนทารกมากกว่าหนึ่งคน
การที่ทารกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นและมีแรงกดดันลงไปที่ปากมดลูกซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งขึ้นได้ ถ้าปากมดลูกเปิดโดยที่ไม่มีการบีบรัดตัวของมดลูกแพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจภายใน การที่ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดนั้นถือเป็นกรณีที่ฉุกเฉินจะต้องมีการเย็บผูกปากมดลูกเอาไว้เพื่อป้องกันการแท้ง การมีเลือดออกทางช่องคลอดก็เป็นอาการแสดงของการที่กำลังจะแท้งซึ่งเกิดจากปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด
การเย็บผูกปากมดลูกช่วยป้องกันการแท้ง ป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง90 % และความเสี่ยงของการเย็บผูกปากมดลูก ได้แก่ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ติดเชื้อ และถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
มีเลือดออก
การมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นในช่วงใดก็ตามจะต้องรายงานแพทย์ให้ทราบ ในช่วงของไตรมาสที่ 2 การมีเลือดออกทางช่องคลอดมักมีสาเหตุมาจาก รกเกาะต่ำ Placenta previa เมื่อตัวอ่อนไปฝังตัวที่ส่วนล่างของมดลูกใกล้กับปากมดลูกทำให้รกเกาะอยู่ใกล้ หรือปิดปากมดลูกไปเลย เป็นสาเหตุให้มีเลือดออก และจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด รกเกาะต่ำ Placenta previa สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ หากคุณแม่มีรกเกาะต่ำและเป็นสาเหตุให้มีเลือดออก คุณแม่อาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาลจะเป็นการดีกว่าและปลอดภัยต่อทารกหากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ซึ่งการผ่าตัดคลอดก็สามารถกระทำได้อย่างปลอดภัย
หากมีเลือดออกและมดลูกมีการหดรัดตัวอาจเป็นอาการแสดงของรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน หมายถึง รกมีการลอกตัวออกจากผนังมดลูกต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน
โภชนาการ
การมีโภชนาการที่ดีมีความสำคัญมากพอกับการมีพฤติกรรมที่ดี ต่อไปนี้เป็นรายการอาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง:
- แม้ว่าเนื้อปลาจะเป็นอาหารที่มีโปรตีน โอเมก้า และแร่ธาตุ แต่ก็มีเนื้อปลาบางชนิดที่ไม่ควรจะรับประทานเนื่องจากมีสารตะกั่วค่อนข้างสูง ควรงดอาหารทะเลบางชนิด
- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ยังปรุงไม่สุกในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะคุณแม่อาจติดเชื้อแบคทีเรียจากอาหารที่เป็นพิษได้ง่าย
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญอาหารและการไหลเวียนโลหิต ดังนั้น ควรปรุงอาหารให้สุกเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการอุ่น
ไส้กรอกและแฮมให้ร้อนก่อนรับประทาน
- หลีกเลี่ยงชีสที่ทำจากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เนื่องจากชีสอาจมีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอยู่ แต่โดยส่วนมากชีสที่ผลิตในสหรัฐฯ จะ
ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ อย่างไรก็ตามควรอ่านฉลากก่อนบริโภค
- จำกัดปริมาณคาเฟอีน คาเฟอีนสามารถซึมผ่านรกในครรภ์และส่งผลกระทบต่อหัวใจและอัตราการหายใจของลูกน้อย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพในระหว่างการตั้งครรภ์ได้