หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน
ท้องผูกที่มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ
(functional constipation)
1. การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง (anorectal dysfunction)
ประมาณ 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกรุนแรงเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ มีสาเหตุมาจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง (anorectal dysfunction) ในการขับถ่ายปกติกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระบังลมจะบีบตัวทำให้เกิดแรงดันเพิ่มขึ้นในช่องท้อง ในผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกตินี้ขณะที่ผู้ป่วยเบ่งกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก แทนที่จะคลายตัวกลับบีบรัดตัวมากขึ้นทำให้ไม่สามารถถ่ายอุจจาระออกได้
ผู้ป่วยที่มีปัญหานี้มักให้ประวัติว่ายังมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระเป็นปกติ แต่เมื่อเข้าห้องน้ำไปถ่ายแล้วไม่สามารถเบ่งให้อุจจาระออกมาได้แม้ว่าอุจจาระจะไม่แข็งและก้อนไม่ใหญ่มากก็ตาม ผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลาอยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานานมากกว่าครึ่งชั่วโมง ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักจะคลายตัวทำให้อุจจาระสามารถเคลื่อนผ่านทวารหนะกออกมาได้
บางรายต้องใช้นิ้วมือช่วยล้วงหรือสวนอุจจาระจึงจะสามารถถ่ายออกมาได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บ ปวดหรือปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก และมักจะรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด ผู้ป่วยบางรายอาจให้ประวัติว่าแม้จะรับประทานยาระบายเป็นจำนวนมากหรือสวนอุจจาระก็ไม่สามารถถ่ายออกได้
สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่ทราบกันแน่ชัด 31% ของผู้ป่วยเป็นมาตั้งแต่เด็ก 29% ของผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีเหตุการณ์บางอย่างสัมพันธ์กับการเริ่มเกิดอาการท้องผูก เช่น หลังคลอด หรือหลังได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ประมาณ 40% ไม่ทราบสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการได้
ภาวะนี้ควรวินิจฉัยแยกโรคจากความผิดปกติบริเวณทวารหนักที่ทำให้เกิดอาการเบ่งอุจจาระไม่ออกได้เช่นเดียวกัน ได้แก่
1. ลำไส้กลืนกันบริเวณทวารหนัก (Rectal intussusception)
2. ทวารหนักแลบโผล่ยื่นออกมาจากทวารหนัก (Rectal prolapse)
3. ทวารหนักยื่นโป่งเข้าไปในช่องคลอดหรืออวัยวะข้างเคียง (rectocele)
4. ทวารหนักอักเสบ
5. มะเร็งของทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Anorectal/colonic cancer)
6. การตีบของทวารหนัก (Anal stenosis)
การเบ่งอุจจาระแรง ๆ และบ่อย ๆ เป็นเวลานานจะทำมห้เกิดการหย่อนยานของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทวารหนัก (excessive pelvic floor descent) ถ้ามีการหย่อยานมาก ๆ จะทำให้เกิดการดึงรั้งของเส้นประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และเส้นประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณทวารหนักและผิวหนังรอบ ๆ ทำให้เกิดอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ตามมาภายหลังได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ภายในทวารหนัก (solitary rectal ulcer syndrome)
การรักษาผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง (anorectal dysfunction) ในผู้ป่วยที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาระบาย การฝึกให้ผู้ป่วยรู้จักการเบ่งให้ถูกวิธีโดยใช้เครื่องมือพิเศษ (biofeedback training) สามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจากสาเหตุนี้ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่สามารถฝึกจนกระทั่งสามารถเบ่งได้ถูกต้องอาการมักจะดีขึ้น และไม่ค่อยกลับมาเป็นซ้ำใหม่
ท้องผูก ท้องผูกเรื้อรังท้องผูกเนื่องจากกล้ามเนื้อควบคุมไม่ดี การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติภาวะลำไส้แปรปรวนการวินิจฉัย การรักษาผู้ป่วยอาการท้องผูก
ทบทวนวันที่
โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว