การรักษาผู้ป่วยอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุ

 

ในกรณีที่ตรวจพบว่าโรคทางกายเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก แพทย์ก็จะให้รักษาตามสาเหตุ เช่น ต่อมไธรอยด์ทำงานน้อยก็ให้ฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น ในกรณีที่หาสาเหตุไม่พบจะมีแนวทางในการดูแลรักษาดังต่อไปนี้

การดูแลรักษาทั่วไป

  1. การสร้างความั่นใจให้แก่ผู้ป่วย
    ผู้ป่วยบางคนสามารถถ่ายอุจจาระได้ปกติ แต่เข้าใจว่าตัวเองมีอาการท้องผูก ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญกับสุขภาพตนเองมาก และเชื่อว่าการถ่ายปกติต้องถ่ายได้ทุกวันทำให้เกิดความกังวลเมื่อตนเองไม่สามารถถ่ายได้อย่างสม่ำเสมอ การให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าถ้าสามารถถ่ายได้มากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ และการถ่ายนั้นไม่ได้ทำให้มีอาการหรือถ่ายยากลำบากหรือเจ็บปวดก็ถือว่าเป็นการถ่ายที่ปกติ
  2. การถ่ายให้เป็นเวลาและตอบสนองต่อความรู้สึกอยากถ่าย ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการอยากถ่ายนั้นเกิดแค่วันละประมาณ  2 ครั้งในผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกอยากถ่ายได้ อาจจะต้องรอไปจนถึงวันต่อไปที่จะมีความรู้สึกอยากถ่ายมาใหม่ ในผู้ป่วยบางคนมีตารางการประกอบกิจวัติประจำวันที่มีเวลาไม่สอดคล้องกับเวลาที่เกิดความรู้สึกอยากถ่าย ทำให้ต้องกลั้นอุจจาระไว้ตลอดเกือบทุกวัน จนกระทั่งถึงวันหยุดจึงจะได้ถ่าย ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาการถ่ายลำบากตามมาเนื่องจากอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้นาน ๆ จะใหญ่และแข็ง
    โดยปกติความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระมักเกิดหลังจากผู้ป่วยตื่นนอนในตอนเช้าและช่วงเวลาหลังอาหาร ในทางปฏิบัติหลังตื่นนอนตอนเช้าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการถ่ายอุจจาระ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกควรตื่นแต่เช้าให้มีเวลาเพียงพอที่จะดื่มนมสักหนึ่งแก้วเพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากถ่าย และมีเวลาพอที่จะสามารถถ่ายได้โดยไม่ต้องรีบเร่ง ผู้ป่วยควรตระหนักว่าผู้ป่วยท้องผูกจะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ช่วยทำให้มีโอกาสถ่ายได้วันละเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าคนปกติ หรือในบางคนอาจมีมาเพียงอาทิตย์ละแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยควรระลึกอยู่เสมอว่า ถ้ากลั้นอุจจาระไว้ไม่ยอมถ่ายเมื่อเกิดความรู้สึกอยากถ่ายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ก็ตามจะเป็นการซ้ำเติมอาการท้องผูกให้เป็นมากยิ่งขึ้น
  3. อาหาร น้ำดื่มและเกลือแร่
    อาหารที่มีกากหรือไฟเบอร์มากจะทำให้ปริมาณอุจจาระมากขึ้นและเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่เร็วขึ้น แต่การรับประทานอาหารที่มีกากมากขึ้นจะได้ผลเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกไม่รุนแรง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกรุนแรง การเพิ่มปริมาณกากอาหารหรือไฟเบอร์ในอาหารที่รับประทานอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือปวดเกร็งท้องได้
    การขาดน้ำและเกลือแร่ทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำกลับมากขึ้นทำให้อุจจาระมีก้อนแข็งมากและถ่ายลำบาก การดื่มน้ำมากขึ้นจะทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มถ่ายง่าย
  4. การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหว
    การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายจะทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้นทำให้ถ่ายได้บ่อยขึ้น ผู้ป่วยที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลาจะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวมากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำให้อาการท้องผูกดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายเหมือนคนปกติอยู่แล้ว การเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายมากขึ้นมักไม่ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

การใช้ยาระบาย

ยาระบายมีอยู่มากมายหลายชนิดแต่อาจแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ยาระบายที่ออกฤทธิ์โดยการทำให้ปริมาณอุจจาระมากขึ้น (bulk-forming laxative) ยาในกลุ่มนี้ที่มีขายในท้องตลาด เช่น Fybogel และ Metamucil ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไฟเบอร์ จะไม่ถูกย่อยและดูดซึมจากทางเดินอาหารจึงสามารถอุ้มน้ำได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณอุจจาระและทำให้อุจจาระเป็นก้อนอ่อนนุ่มขึ้น นอกจากนั้นยังกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านภายในลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น
    ยาระบายกลุ่มนี้สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรภ์ที่อาการท้องผูกไม่รุนแรง การออกฤทธิ์ของยาจะไม่ออกฤทธิ์ทันที อาจจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงจะเห็นผล ในผู้ป่วยที่ท้องผูกรุนแรง ยาระบายกลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้ผล และไฟเบอร์อาจย่อยสลายโดยแบคทีเรียภายในลำไส้เกิดเป็นแก๊สทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือปวดบีบท้องได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยที่รับประทานยาระบายชนิดนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยาก ควรระวังในผู้ป่วยที่รับประทานยาอื่น ๆ ร่วมด้วย ยาระบายกลุ่มนิ้อาจมีผลทำให้ยาอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ดูดซึมได้น้อยลงจึงควรรับประทาน 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาอื่น
  2. ยาที่ออกฤทธิ์โดยการดูดน้ำกลับเข้ามาในลำไส้มากขึ้น (osmotic laxative)

ยากลุ่มนี้จะเป็นสารโมเลกุลเล็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถดูดซึมได้ภายในลำไส้ ทำให้สามารถดูดซึมน้ำกลับเข้ามาภายในลำไส้ด้วยแรงออสโมสิส ทำให้ปริมาณอุจจาระมากขึ้นและเหลวขึ้น ยาในกลุ่มนี้ได้แก่

  • มิลค์ออฟแมกนีเซีย (milk of magnesia, MOM),
  • น้ำตาลแลคตูโคส (Duphalac),
  • แลคติทอล (Importal) แลคทูโลสมีคุณสมบัติเป็นน้ำตาลที่ไม่สามารถดูดซึมได้โดยลำไส้เล็ก

ตัวยาจึงเคลื่อนไปถึงลำไส้ใหญ่ในรูปเดิม แล้วถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นกรดอินทรีย์ ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามา ในอุจจาระเป็นผลให้อุจจาระอ่อนตัวขึ้นและยังสามารถกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวตัวดีขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับทารก เด็กผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ส่วนมิลค์แฟแมกนีเซีย (MOM) เป็นยาที่ช่วยดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระและลำไส้ทำให้มีประสิทธิภาพในการเป็นยะระบาย แต่มีข้อเสียคือ สารแมกนีเซียมอาจจะสะสมในร่างกายทำให้เกิดอันตราย จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไตและเด็ก

  1. ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนิ่ม เช่น น้ำมันพาราฟิน (ELP co.) การใช้ยานี้นาน ๆ จะรบกวนการดูดซึมของวิตามิน A, D, E, K โดยเฉพาะวิตามิน D เมื่อขาดจะมีผลต่อการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส จึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก เนื่องจากมีส่วนประกอบของน้ำมันสามารถทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงได้ถ้าสำลักยาระบายนี้เข้าปอด จึงห้ามใช้ในเด็กเล็กและผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาด้านการกลืน เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยมีปัญหาของระบบประสาทและผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง
  2. ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (irritant laxatives) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงและเร็ว เช่น มะขามแขก บิสาโคดิล ควรใช้ยากลุ่มนี้เมื่อรักษาด้วยยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผลโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรง ข้อเสียของยากลุ่มนี้คือ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ควรระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของลำไส้ได้ แต่การศึกษาในระยะหลังพบว่า อาจไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของลำไส้มากเหมือนที่มีการกล่าวถึงในอดีต
  3. ยาระบายชนิดสวน
    การสวนด้วยยาระบายจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโป่งพองเกิดการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ร่วมกับการทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง จึงสามารถกระตุ้นให้ถ่ายได้ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดจากการสวนไม่ถูกวิธีทำให้น้ำยาที่ใช้สวนรั่วซึมเข้าไปในผนังลำไส้ใต้ชั้นเยื่อบุผิว และอาจทำให้เกิดแผลได้ ยาระบายชนิดสวนที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดคือ Unison ซึ่งเป็นน้ำเกลือเข้มข้น (15% NaC1) ซึ่งพบว่าสามารถทำให้เกิดการทำลายของเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่ได้บ่อยแต่มักหายได้เอง ยาสวนบางชนิดมีส่วนผสมของ sodium phosphate เข้มข้นอาจทำให้ระดับ phosphate ในเลือดสูงและแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักเกิดขึ้นในเด็กที่สวนอุจจาระแล้วไม่สามารถถ่ายออกมาได้ ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยจะสามารถถ่ายอุจจาระออกมาได้หรือไม่ไม่ควรทำการสวนอุจจาระ โดยเฉพาะด้วยยาที่ทีส่วนผสมของ sodium phosphate เข้มข้น
  4. ยาระบายชนิดเหน็บ
    ยาระบายชนิดเหน็บที่ใช้ได้ผลดีและปลอดภัยคือ กลีเซอรีน (glycerin) ส่วน bisacodyl หรือ Dulcolax ชนิดเหน็บจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุลำไส้และพบว่าถ้าใช้ในขนาดสูงจะทำให้เยื่อบุผิวลำไส้ถูกทำลายไป จึงไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ประจำเนื่องจาก bisacodyl ชนิดเหน็บออกฤทธิ์เร็วมักได้ผลภายใน 15-30 นาที จึงมักใช้ในรายที่หวังผลให้ถ่ายในระยะเวลสั้น ๆ

ท้องผูก ท้องผูกเรื้อรังท้องผูกเนื่องจากกล้ามเนื้อควบคุมไม่ดี การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติภาวะลำไส้แปรปรวนการวินิจฉัย การรักษาผู้ป่วยอาการท้องผูก