หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน

แอนแทรกซ์ (Anthrax) มีอาการทางผิวหนัง ทางเดินหายใจและอาการทางเดินอาหาร

ลักษณะโรค

เป็นโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักเป็นแบบเฉียบพลัน โดยอาจเป็นแผลที่ผิวหนังและไม่บ่อยนักที่เป็นโรคที่ระบบทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหาร

โรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง

จะเริ่มด้วยอาการคันที่บริเวณสัมผัสเชื้อ ตามด้วยตุ่มบวมมีน้ำใสภายใน 2 - 6 วันจะเริ่มยุบตรงกลาง เป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (แผล eschar) รอบ ๆบวมน้ำ มักไม่ปวดแผลถ้าปวดมักเนื่องจากการบวมน้ำที่แผล อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนแผลนี้อาจสับสนกับแผลโรคสครับทัยฟัส แต่แผลแอนแทรกซ์มักพบนอกร่มผ้าและมีขนาดใหญ่กว่า การติดเชื้อที่ไม่ได้รับการบำบัดรักษา อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้อัตราป่วยตายประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะอัตราตายจะต่ำลงมาก

โรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินหายใจ

เริ่มด้วยอาการคล้ายการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนต่อมาจะเกิดการหายใจขัด และส่วนกลางภายในช่องอก (mediastinum) ขยาย มีไข้ และช็อคภายใน 3-5 วัน ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

โรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหาร

พบน้อย และสังเกตได้ยาก ยกเว้นมีการระบาดเกิดเป็นกลุ่ม ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคทางเดินอาหาร ไข้ โลหิตเป็นพิษอาจเสียชีวิตถ้ารักษาไม่ทัน

ในประเทศไทยมีรายงานโรคแอนแทรกซ์ที่คอ (oropharyngeal form) ผู้ป่วยจะแสดงอาการเจ็บคอ คอบวมแข็งตึงกลืนอาหารลำบาก เนื่องจากมีแผลเนื้อตายที่คอและคอหอย การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด แผลหรือสิ่งขับถ่ายจากร่างกาย (discharge) โดยป้ายสไลด์และย้อมสีGram-stainหรือโดยการเพาะเชื้อหรือฉีดหนู mice, หนู quinea pigs หรือกระต่ายอาจใช้FA test ตรวจเชื้อแบคทีเรียการตรวจซีรั่ม 2 ครั้ง (paired serum)โดย electrophoretic immunotrans blotsหรือELISAอาจช่วยได้ ถ้าพบไตเตอร์เพิ่มขึ้น 4 เท่าขึ้นไป

เชื้อก่อโรค

เชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis เป็นเชื้อแกรมบวก รูปแท่งมี capsuleไม่เคลื่อนที่และเมื่อถูกกับอ๊อกซิเจนจะสร้างสปอร์หุ้มตัว

การเกิดโรค

เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศเกษตรกรรมในทวีปยุโรปเอเซียและอัฟริกา;การแพร่เชื้อระหว่างประเทศ อาจเกิดผ่านทางอาหารสัตว์(กระดูกสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ )หรือเกิดจากน้ำท่วมในประเทศอุตสาหกรรม พบน้อยและเกิดประปราย โรคนี้ถือเป็นโรคจากการประกอบอาชีพมักเกิดในคนงานของโรงงานหนังสัตว์ขนสัตว์ (โดยเฉพาะขนแกะ) อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของกระดูกสัตว์กลุ่มเสี่ยงโรคกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ สัตวแพทย์ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า

แหล่งรังโรค

ได้แก่ โคกระบือ แพะ แกะ ม้าสุกรและสัตว์ป่า เช่น ช้าง ฮิบโปโปเตมัส และกวางอิมพาล่าสปอร์ของ B.anthracis จะคงทนต่อสภาพแวดล้อม และสารเคมีมาก ในสภาพแวดล้อมที่ความเป็นกรดด่างมีอาหารและอุณหภูมิเหมาะสมเชื้ออาจอยู่ในดินได้นานหลายปีหนังสัตว์ หรือขนสัตว์ที่ตากแห้ง หรือผ่านขั้นตอนการผลิตในโรงงานแล้ว ก็ยังอาจพบสปอร์อยู่ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้นานหลายปี

วิธีการแพร่โรค

แอนแทรกซ์ที่ผิวหนังเกิดจากการสัมผัสกับ
1) เนื้อเยื่อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ หรืออาจเกิดจากการถูกกัดโดยแมลงที่สัมผัสซากสัตว์มาก่อน
2) หนังสัตว์ขนสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสิ่งเหล่านี้ที่มีสปอร์ปนเปื้อนอยู่เช่น กลองแปรงหวีผม เป็นต้น
3) พื้นดินหรือกระดูกสัตว์ป่นที่จะใช้ทำปุ๋ยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางแผลหรือรอยถลอก

แอนแทรกซ์ระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ที่ฟุ้งกระจายจากหนังสัตว์ขนสัตว์ ฯแอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหารติดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ โดยปรุงสุกๆดิบๆ ยังไม่มีรายงานการติดโรค โดยการดื่มน้ำนมจากสัตว์ป่วยสัตว์อาจติดเชื้อจากการกินหญ้า หรืออาหารสัตว์ ที่ปนเปื้อนเชื้อนอกจากนี้ยังมีรายงานการแพร่โรคโดยนกแร้งและการติดเชื้อโดยบังเอิญอาจเกิดได้ในห้องปฏิบัติการ

ระยะฟักตัวของโรค

2 - 7 วัน ส่วนใหญ่เกิดภายใน 48 ชั่วโมง หลังสัมผัสเชื้อ

ระยะติดต่อของโรค

ไม่มีรายงานการติดต่อจากคนถึงคน เครื่องใช้และพื้นดินที่มีสปอร์สามารถแพร่โรคได้นานหลายปี

ความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ

ไม่แน่นอนอาจเป็นการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการในคนที่สัมผัสเชื้ออยู่บ่อยๆ และยังไม่เคยมีรายงานยืนยันการติดเชื้อซ้ำ

วิธีการควบคุมโรค

ก. มาตรการป้องกัน

  1. ให้สุขศึกษาแก่เกษตรกรทราบว่าถ้าสัตว์โดยเฉพาะโคกระบือตายกระทันหันไม่ทราบสาเหตุให้สงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์ และห้ามผ่าซากโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสร้างสปอร์ และให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันทีไม่ควรเคลื่อนย้ายซากสัตว์ และควรฝังซากในบริเวณที่สัตว์ตายโดยฝังให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร (วัดจากส่วนบนของซากถึงผิวดิน) ไม่ควรเผาในที่โล่งแจ้ง เพราะสปอร์อาจฟุ้งกระจาย พื้นดินที่ปนเปื้อนควรฝังพร้อมกับซากสัตว์ และควรกลบทับด้วยปูนขาว (quicklime) หรือ 5% lye อุปกรณ์เครื่องมือควรทำลายเชื้อโดยการเผาหรือแช่ในสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ 4% นาน 4 ชั่วโมง
  2. ฉีดวัคซีนแก่สัตว์โดยเฉพาะโคกระบือในขณะที่มีโรคระบาดทันทีและฉีดกระตุ้นซ้ำให้แก่สัตว์ในบริเวณเคยเกิดโรคระบาด หรือบริเวณติดต่อกับพื้นที่ติดโรคทุกปี สัตว์ที่ป่วยให้การรักษาด้วยpennicillinหรือ tetracyclineเมื่อหายดีแล้ว ให้รีบฉีดวัคซีน สัตว์ที่สัมผัสโรคแต่ยังไม่ป่วย อาจใช้วิธีเดียวกันนี้ได้
  3. ในโรงงานขนสัตว์หนังสัตว์อาหารสัตว์ควรให้สุขศึกษาแก่คนงานให้ทราบการป้องกันการติดต่อของโรค และหมั่นดูแลรักษาแผลที่ผิวหนัง
  4. จัดระบบการถ่ายเทอากาศและฝุ่นละอองภายในโรงงานขนสัตว์หนังสัตว์ ฯให้เหมาะสม พร้อมทั้งให้บริการด้านคำปรึกษา และบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และให้การรักษากรณีมีแผลที่สงสัยทันที
  5. จัดเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเวลาทำงาน อุปกรณ์ป้องกันเช่นถุงมือและรองเท้าบู๊ทมีบริเวณชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายภายหลังการปฏิบัติงาน และจัดที่รับประทานอาหารแยกจากบริเวณทำงาน โรงงานที่ปนเปื้อนเชื้อ ต้องอบฆ่าสปอร์ด้วยฟอร์มาลดีไฮด์
  6. ล้างและทำลายเชื้อที่ปนเปื้อนวัตถุดิบ เช่นขน หนังและกระดูกสัตว์ก่อนเข้าสู่ขบวนการผลิต
  7. ห้ามขายซากสัตว์หรือส่วนใดๆ ของซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เพื่อเป็นอาหาร หรือนำไปผลิตเป็นสินค้า
  8. จัดระบบการกำจัดขยะและของเสียจากโรงงานขนหนังสัตว์และอาหารจากกระดูกสัตว์ โดยต้องมีการทำลายเชื้อก่อนนำไปทิ้ง
  9. ให้ภูมิคุ้มกันแก่กลุ่มเสี่ยงโรคด้วยวัคซีน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาสามารถจัดหาได้วัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง และที่ระบบทางเดินหายใจ

ข. การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม

  1. การรายงานโรค : เป็นโรคที่ต้องแจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องที่เกิดโรค
  2. การแยกผู้ป่วย :สิ่งขับถ่ายจากร่างกายผู้ป่วยต้องฆ่าเชื้อก่อนนำไปทิ้ง
  3. การทำลายเชื้อ :น้ำเหลืองจากแผล ของใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ ต้องนำไปฆ่าเชื้อก่อน ถ้าเป็นสปอร์ต้องฆ่าเชื้อโดยการอบด้วยไอน้ำหรือนำไปเผาในเตาเผา
  4. การกักกัน: ไม่จำเป็น
  5. การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส:ไม่จำเป็น
  6. การสอบสวนผู้สัมผัสและแหล่งโรค:สอบประวัติการสัมผัสกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ และสอบกลับไปยังแหล่งที่มาหากเกิดการระบาดในโรงงาน ต้องตรวจสอบมาตรการป้องกันโรคว่า มีจุดบกพร่องหรือไม่

การรักษา

penicillin ให้ผลการรักษาดีที่สุดโดยให้นาน 5 - 7 วัน tetracycline erythromycin และ chloramphenicol ก็ให้ผลดีเช่นกัน

ค. มาตรการเมื่อเกิดการระบาด

:การระบาดในเอเซียอเมริกาและรัสเซียมักเกิดจากการลักลอบชำแหละซากสัตว์และการกินเนื้อสัตว์ ในสหรัฐอเมริกา มักเกิดการระบาดในโรงงานผลิตภัณฑ์ สัตว์การควบคุมการระบาดควรเน้นการทำลายซากสัตว์ และการทำลายเชื้อ การฉีดวัคซีนสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค การรักษาผู้ป่วย และการค้นหาแหล่งที่มาของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการป้องกันการแพร่โรค

ง. สัญญาณภัยที่ควรระวัง:

ไม่มี ยกเว้นในกรณีที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาด อาจทำให้โรคแพร่ออกไปยังพื้นที่อื่นได้

จ. มาตรการควบคุมโรคระหว่างประเทศ :

อาหารสัตว์ที่ทำจากกระดูกสัตว์ ที่นำเข้ามาจากประเทศที่มีโรค ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโดยวิธีสเตอรีไรซ์ ก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์ สำหรับขนสัตว์ หนังสัตว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากสัตว์ เมื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยง และสามารถปฏิบัติได้ ควรให้ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อด้วย formaldehyde, ethylene oxide หรือการฉายรังสีโคบอลต์ (cobalt irradiation) ก่อนนำไปจำหน่าย

โรคแอนแทรกซ์ | โรคแอนแทรกซ์2 | การป้องกัน | การรักษา