อาการที่สำคัญของโรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูมีจะมีอาการของโรคหลังจากได้รับเชื้อไป 5-14 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการทางคลินิก ส่วนผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งจะเกิดอาการทาคลินิกซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองระยะ
- ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด Leptospiremic เมื่อเชื้อเข้าร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้คือ
- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวด บริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
- ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้อ
- ไข้สูง 28-40 องศา เยื่อบุตาแดง
อาการต่างๆอาจอยู่ได้ 4-7 วัน นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง
การตรวจร่างกายในระยะนี้ที่สำคัญจะตรวจพบ ผู้ป่วยตาแดงเนื่องจากเส้นเลือดขยายโดยที่ไม่มีการอักเสบ มีน้ำตาหรือขี้ตาไหล คอแดง มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายมีผื่นตามตัว ตับม้ามโต
- ระยะร่างกายสร้างภูมิ (immune phase) ในรายที่อาการไม่รุนแรง หลังจากมีไข้แล้ว 7 วันจะมีระยะที่ไม่มีไข้ 1-2 วันหลังจากนั้นจะเกิดไข้ขึ้นอีกครั้ง ไข้ระยะนี้จะขึ้นวันละ 2 ครั้ง จะมีอาการปวดศีรษะ สับสน หรือซึม เบื่ออาหาร เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ มีผื่น ตรวจเลือดพบการทำงานของตับ และการทำงานของไตผิดปกติ ตรวจพบเชื้อในเลือดและน้ำไขสันหลังในระยะ1-2 วันของระยะโรคนี้ ระยะนี้ถ้าเจาะเลือดจะพบภูมิต่อเชื้อเพิ่ม ระยะนี้กินเวลา 4-30 วัน
กลุ่มอาการที่แสดงออกตามความรุนแรงของโรคได้แก่
- กลุ่มที่ไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง กลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง หลังจากได้รับเชื้อ 10-26 วันโดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิดอาการของโรคได้แก่ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการอาจจะมีตั้งแต่ 1-หลายวัน
- กลุ่มที่มีอาการเหลือง กลุ่มนี้ไข้จะไม่หายแต่จะเป็นมากขึ้นโดยพบมีอาการเหลือง และไตวาย มีผื่นที่เพดานปาก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตับและไตวาย ดีซ่าน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ อาจจะมีอาการไอเป็นเลือด อาการเหลืองจะเกิดวันที่ 4 ของโรค ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตในระยะนี้หรือในต้นสัปดาห์ที่สามจากไตวาย
อาการแสดงที่สำคัญ ได้แก่
- ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างภายใน 3 วันแรกของโรค และอยู่ได้นานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจจะพบร่วมกับเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
- กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง
- มีเลือดออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่นจุดเลือดออกตามผิวหนัง petichae ผื่นเลือดออก purpuric spot เลือดออกใต้เยื่อบุตา conjunctival haemorrhage หรือเสมหะเป็นเลือด
- ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
- อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโรค
อาการจำแนกตามระบบได้แก่
ระบบกล้ามเนื้อ
- ปวดกล้ามเนื้อ มักมีอาการปวดกล้ามเนื้อน่อง พบได้บ่อยถึงร้อยละ 79-96 ของผู้ป่วย
- กดเจ็บกล้ามเนื้อ จะพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการตาเหลือง พบได้ร้อยละ 42-53 และร้อยละ 75 ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีไม่มีอาการตาเหลืองและที่มีอาการตาเหลืองตามลำดับ
- muscle enzyme พบสูงมากผิดปกติได้ถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโดยมักขึ้นสูงสุดในสัปดาห์แรกและจะกลับเป็นปกติในสัปดาห์ที่สองหรือในระยะฟื้นตัว
ระบบทางเดินอาหาร
- อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน (ร้อยละ 40-60) ท้องเสีย (ร้อยละ 24-29)
- อาการปวดท้องพบได้บ่อยกว่ากลุ่มที่ไม่เหลือง (ร้อยละ 44 และ ร้อยละ 11-20 ตามลำดับ)
- กดเจ็บที่ท้อง (abdominal tenderness) พบได้ร้อยละ 11-30
- ตับโตพบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการเหลือง พบได้ร้อยละ 15-34 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหลือง และพบได้ร้อยละ 75 ในผู้ป่วยที่มีอาการเหลือง
- ม้ามโต พบได้ร้อยละ 22 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหลือง
- ตัวและตาเหลือง ซึ่งร้อยละ 80 จะเริ่มมีอาการเหลืองในช่วงวันที่ 4-7 ของโรค และเหลืองมากที่สุดในต้นสัปดาห์ที่สอง อาการตัวและตาเหลืองเป็นอยู่ได้นานตั้งแต่ 2-3 วันจนถึงหลายสัปดาห์ การตรวจระดับ bilirubin มักพบสูงไม่เกิน 20 mg/dl แต่อาจพบว่าสูงได้ถึง 60-80 mg/dl โดยเป็น conjugated bilirubin เด่น การตรวจทางพยาธิวิทยามักไม่พบการทำลายของเนื้อตับ
- เอนไซม์ตับ (SGOT และ SGPT) สูง พบว่า SGOT สูงได้ร้อยละ 43 และ SGPT สูงได้ร้อยละ 39 โดยทั่วไป SGOT และ SGPT มักสูงไม่เกิน 5 เท่าของ upper limit ของค่าปกติ
ระบบขับปัสสาวะ
- การตรวจปัสสาวะ พบความผิดปกติได้บ่อยถึงร้อยละ 70-80 พบได้ตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค เช่น การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ protienuria พบได้ร้อยละ 65 ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ( pyuria ) พบได้ร้อยละ 40 พบgranular cast พบได้ร้อยละ 50-60 ตรวจพบเลือดในปัสสาวะ (microscopic hematuria )พบได้ร้อยละ 17
- มีการเพิ่มขึ้นของ BUN โดยในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการเหลืองพบร้อยละ 26-38 แต่ระดับมักไม่เกิน 100 mg/dl ระดับ BUN มักจะเพิ่มสูงสุดในวันที่ 5-8 และกลับเป็นปกติใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเหลืองพบ BUN สูงได้ร้อยละ 68 และร้อยละ 80 จะตรวจพบระดับสูงมากกว่า 100 mg/dl และอาจสูงได้ถึง 300 mg/dl
- การเพิ่มขึ้นของ creatinine (> 2 mg/dl) ในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการเหลืองพบร้อยละ 19 ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเหลืองพบร้อยละ 58 และในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีระดับ creatinine ผิดปกติจะพบว่าระดับ creatinine สูงเกิน 5 mg/dl ร้อยละ 52 และมีภาวะ uremia ร่วมด้วยร้อยละ 58 ส่วนในกลุ่มที่มีระดับ creatinine สูงไม่มาก (ไม่เกิน 2 mg/dl) มักเป็นผลจากภาวะขาดน้ำ( volume depletion) และตอบสนองดีต่อการให้สารน้ำทางหลอดเลือด กลุ่มนี้จะพบว่าระดับ creatinine จะลดลงเป็นปกติได้ใน 24-48 ชั่วโมง
- ไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) เนื่องจากมีการอักเสบของไต ทำให้ปัสสาวะออกน้อยมักจะเกิดในสัปดาห์ที่สองแต่อาจพบได้ตั้งแต่วันที่ 3-4 หลังจากเริ่มมีอาการโดยไม่จำเป็น ต้องพบร่วมกับอาการเหลืองเสมอไป ผู้ป่วยไตวายที่ไม่มีอาการเหลืองร่วมด้วยมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก
ระบบโลหิตวิทยา
- จุดเลือดออกที่ผิวหนัง petecgial haemorrhage พบได้ร้อยละ 2-10 ในผู้ป่วยที่มีอาการเหลืองเท่านั้น
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia , platelet < 100,000) พบได้บ่อยถึงร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และพบมีความสัมพันธ์กับภาวะ ไตวายเฉียบพลัน(acute renal failure ) โดยผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะพบภาวะไตวายร่วมด้วย ร้อยละ 72
- เม็ดเลือดขาวสูง (leukocytosis) (เม็ดเลือดขาวสูงเกิน 10,000 ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร) พบได้ร้อยละ 82 โดยเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตฟิวส์เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ระดับเม็ดเลือดขาวสูงเกิน 15,000 พบในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเหลืองได้บ่อยกว่ากลุ่มที่ไม่เหลือง (พบได้ร้อยละ 58 และ 19 ตามลำดับ)
ระบบหายใจ
- อาการไอพบได้ร้อยละ 25-63 ไอเสมหะเล็กน้อยเริ่มเป็นตั้งแต่วันที่ 1-4 ของโรคและเป็นอยู่นาน 3-4 วัน
- อาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นผลจากการอักเสบของกล้ามเนื้อพบได้ร้อยละ 7-30
- อาการไอเป็นเลือดเล็กน้อยพบได้ร้อยละ 3-50
- ส่วนอาการที่รุนแรงแต่พบได้แต่น้อยและมักพบในกลุ่มที่มีอาการเหลืองเท่านั้น ได้แก่ อาการไอเป็นเลือดสด ๆ และภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ hypoxemia เชื่อว่าเกิดจากผลโดยตรงจาก endotoxin ของเชื้อซึ่งทำลายเซลล์บุหลอดเลือดฝอยของปอด ทำให้เกิดเลือดออกในปอด hemorrhagic pneumonitis
- ภาพรังสีปอดผิดปกติ พบได้ตั้งแต่ร้อยละ 11-67 โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการ และอาการแสดงที่ผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจจะพบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีปิดได้บ่อยขึ้น และยังพบว่า ความรุนแรง หรือปริมาณเสมหะปนเลือดมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงที่ประเมินจากความผิดปกติ ที่ตรวจพบในภาพถ่ายรังสีปอดด้วย ความผิดปกติทางการตรวจภรพรังสีปอดของผู้ป่วยโรคนี้มักพบที่ปอดกลีบล่าง และเด่นที่ peripheral lung field เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีปริมาณเลือดไหลเวียนมากที่สุด มักพบในวันที่ 3-9 ของการดำเนินโรคและกลับเป็นปกติโดยเฉลี่ยในเวลา 6-10 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
ระบบประสาท
- อาการและการแสดงที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ พบได้ร้อยละ 80-90 คอแข็งพบได้ร้อยละ 6-19 ระดับความรู้สึกตัวผิดปกติ พบได้ร้อยละ 11-30
- กลุ่มอาการที่สำคัญซึ่งมักพบในระยะที่ 2 ของโรคคือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ aseptic meningitis ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากภูมิคุ้มกัน antigen-antibody complex โดยปกติแล้วสามารถพบเชื้อในน้ำไขสันหลังได้ในระยะแรกของโรค และเชื้อจะหายไปในระยะที่สองพร้อมกับมีการสร้างแอนติบอดี้ขึ้น ในระยะแรกของโรคแม้มีเชื้ออยู่การตรวจน้ำไขสันหลังมักไม่พบเซลล์เพิ่ม แต่จะเริ่มพบได้ในสัปดาห์ที่สองถึงร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วย แต่จำนวนเซลล์ที่เพิ่มขึ้นมักไม่เกิน 500 ตัวต่อ ลบ.มม. และเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตฟิวส์เพิ่มขึ้นในระยะแรก ระดับโปรตีนในน้ำไขสันหลังอาจปกติหรือสูงได้ (แต่มักไม่เกิน 300 mg/dl) แต่ระดับน้ำตาลมักจะปกติ อย่างไรก็ตามแม้ผู้ป่วยจำนวนมากจะตรวจพบเซลล์เพิ่มในน้ำไขสันหลัง แต่มีอาการแสดงของเยื่อหุ้มสมองอักเสบเพียงไม่เกินร้อยละ 50 เท่านั้น
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- พบมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้บ่อยถึงร้อยละ 70 ความผิดปกตินี้มักพบในระยะแรกของการดำเนินโรค พบหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ โดยพบ atrial fibrillation ได้บ่อยที่สุด ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะหัวใจล้มเหลวและ cardiogenic shock ได้ ซึ่งการทำงานของหัวใจจะกลับมาเป็นปกติใน 2-3 สัปดาห์หลังการรักษา
การเปลี่ยนแปลงที่ตา
- พบเยื่อบุตาบวม conjunctival suffusion ได้ร้อยละ 20-27 มักพบในระยะสัปดาห์แรก
- พบเลือดออกที่เยื่อบุตา conjunctival haemorrhage ได้ร้อยละ 6-7 และมักหายได้เองในหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องให้การรักษา
- พบม่านตาอักเสบ uveitis ได้ร้อยละ 2 ความผิดปกติของตาเกิดได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของโรคจนถึง 6-12 เดือน อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง ครั้งเดียวหรือหลายครั้งได้ โรคนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของ chronic recurrent latent uveitis การพยากรณ์โรคมักจะดีหายสนิทจนเป็นปกติได้ แต่ในผู้ที่เป็นเรื้อรังมีโอกาสตาบอดได้
โรคฉี่หนู | อาการโรคฉี่หนู | การวินิจฉัยโรคฉี่หนู | การรักษาโรคฉี่หนู