โรคหัด Measles

โรคหัด เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายทางเสมหะ น้ำลายเกิดจากเชื้อ Measles virus คนที่ได้เชื้อนี้จะมีไข้สูง ตาแดง ไอ หลังจากมีไข้ 3-7 วันก็จะมีผื่นซึ่งเริ่มที่หน้าก่อน และลามไปทั้งตัว เป็นโรคติดต่อโรค มักเป็นกับเด็กเล็ก 9 เดือน- 6 ปี ติดต่อโดยทางหายใจ น้ำลายที่ออกจากปาก คอ มักจะระบาดตอนฤดูหนาวถึงฤดูร้อน

ระยะติดต่อโรคหัด

ระยะติดต่อประมาณ2-4 วันก่อนเกิดผื่น และหลังเกิดผื่นแล้วยังติดต่อได้อีก 2-5 วัน

อาการโรคหัด

  • ระยะฟักตัว คือจะเกิดอาการหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 8-12 วัน
  • อาการนำเริ่มต้นด้วยเด็กจะมีไข้สูง อาการงอแง กระสับกระส่าย ปวดตามตัว น้ำมูกไหล ตาจะแดงและแพ้แสง ไอแห้งๆ มีอาการไข้สูงปวดตามตัว  ระยะที่เริ่มเป็น 2-3 วันแพทย์อาจตรวจพบผื่นแดงเล็กๆในปากเรียก Koplick'spot
  • ระยะออกผื่น หลังมีไข้ 3-4 วันจะไอมากขึ้น มีผื่น โดยผื่นขึ้นหน้าผาก และลามไปที่หน้า คอ และลำตัวในเวลา 24- 36 ชั่วโมง เมื่อผื่นขึ้นอาการปวดเมื่อจะดีขึ้น ไข้จะค่อยๆลง  ผื่นจะใช้เวลา 3 วัน ลามจากหัวถึงขา ฝ่ามือฝ่าเท้าจะไม่มีผื่น ผื่นจะเริ่มจางที่ศีรษะก่อน ผื่นจะจางใน 7-10 วัน เหลือรอยดำๆ 
  • โดยเฉลี่ยผื่นเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส
  • ผู้ที่ขาดวิตามินเอ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

การติดต่อโรคหัด

  • โรคนี้จะติดต่อโดยคนใกล้ชิดได้สัมผัสกับเสมหะ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่เกิดจากการไอหรือจาม
  • เชื้อที่อยู่ในอากาศหรือผิวของวัตถุจะยังคงติดต่อสู่คนอื่นได้ 2-4 ชั่วโมง
  • สำหรับผู้ป่วยจะแพร่เชื้อก่อนและหลังมีผื่น 4 วัน

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหัด

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

  • เด็กที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
  • สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น HIV ได้รับยา steroid
  • นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วไปเที่ยวแหล่งระบาด

โรคแทรกซ้อนโรคหัด

ภาวะแทรกซ้อนจะมีอยู่มากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 หรือผู้ใหญ่อายุ 20 ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ ตาบอด โรคไข้สมองอักเสบ ท้องร่วงอย่างรุนแรงและการขาดน้ำ การติดเชื้อที่หูหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง เช่นปอดบวม

  • ระบบหายใจ อาจเกิดได้ตั้งแต่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม
  • ภาวะแทรกซ้อนทางหู อาจเกิดหูชั้นกลางอักเสบ
  • ภาวะแทรกซ้อนทางตา จะมีเยื่อบุตาอักเสบ จนเป็นแผลที่แก้วตา corneal ulcer
  • ภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร มีการอักเสบของลำไส้ทำให้ถ่ายเหลว
  • ภาวะแทรกซ้อนระบบส่วนกลาง อาจพบสมองอักเสบ encephalitis เป้นภาวะที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และซึมลง

การรักษาโรคหัด

เนื่องจากโรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสดังนั้นจึงไม่มียาที่รักษาโดยตรง ท่านต้องปรึกษาแพทย์ของท่านให้ทราบถึงวิธีดูแล และโรคแทรกซ้อนต่างๆ หลักการดูแลทั่วๆไป คือ

  • ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอให้ยาลดไข้ด้วย paracetamol หรือibuprofen ห้ามใช้ยา aspirin ในการลดไข้ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเนื่องจากจะทำให้เกิด Reye's syndrome
  • กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
  • เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะที่หูและปอดควรให้ยาปฏิชีวนะทันที่เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคหัดที่เกิดในประเทศด้อยพัฒนาที่มีการขาดวิตามินเอจะต้องวิตามินเอ สองครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมงซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ร้อยละ 50

โรคหัด จะหายเมื่อไร

โดยทั่วไปโรคจะหายใน10-14 วันนับจากตั้งแต่เริ่มมีอาการวันแรก และสามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้หลังจากไข้ลง หรือผื่นหายไปแล้ว 7 วัน

การป้องกันโรคหัด

สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน MMR ตามตารางการฉีด หรือสามารถฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสโรค หรือหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 3 วันก็กันโรคได้

ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ทารถ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหรือวัณโรค กลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันต่ำหากสัมผัสโรคต้องให้ Gamma globulin

จะไปพบแพทย์เมื่อไร

  • ถ้าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เป็นเด็กทารก เป็นวัณโรคหากสัมผัสโรคต้องรีบปรึกษาแพทย์
  • เด็กที่เป็นโรคหัดมีอาการปวดหู หรือหายใจหอบ
  • มีอาการของหัดค่อนข้างรุนแรง เช่น ไข้สูง ทานอาหารไม่ได้
  • มีอาการของโรคแทรกซ้อน

งูสวัส เริม เริมที่ริมฝีปาก หูด เริ่มที่นิ้ว หัดเยอรมัน หัด หัดญี่ปุ่น ไข้สุกใส คางทูม ไข้กาฬหลังแอ่น ฝีดาษ มือปากเท้าเปื่อย