ความดันโลหิตสูงกับผู้หญิง

เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุของความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มักจะเป็นชนิดไม่ทราบสาเหตุที่เรียกว่า primary hypertension ส่วนที่ทราบสาเหตุเรียก secondary hypertension เช๋นโรคไต โรคต่อมไร้ท่อ แต่เราพอจะทราบปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ดื่มสุรามากไป สูบบุหรี่มากไป การรับประทานอาหารเค็ม สำหรับผู้หญิงกับความดันมีเรื่องที่ต้องสนใจ



การรับประทานยาคุมกำเนิด

แพทย์พบว่ายาคุมกำเนิดสามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในผู้หญิงบางคน โดยเฉพาะกลุ่มคนเหล่านี้

  • คนอ้วน
  • คนที่ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • คนที่มีโรคไต
  • คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง

ดังนั้นก่อนที่รับประทานยาคุมกำเนิดควรให้แพทย์วัดความดันโลหิต หากปกติก็ให้วัดทุก 6 เดือน การสูบบุหรี่ร่วมกับการรับประทานยาคุมกำเนิดจะเป็นอันตรายมาก สำหรับผู้หญิงบางคนควรจะเลิกบุหรี่ก่อนรับประทานยาคุมกำเนิด หากไม่สามารถเลิกบุหรี่ก็ควรจะใช้การคุมกำเนิดชนิดอื่น

หากคุณตั้งครรภ์และความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงสามารถคลอดบุตรออกมาปกติ แต่ผู้ป่วยบางส่วนก็เกิดโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ระหว่างที่คุณตั้งครรภ์แพทย์จะเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิต เพราะความดันโลหิตสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะใน 3 เดือนก่อนคลอด หากไม่รักษาจะเป็นอันตรายทั้งแม่และลูก ความดันนี้จะหายไปเมื่อคลอด สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน การตั้งครรภ์จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น จะแบ่งโรคความดันโลหิตสูงในคนตั้งครรภ์เป็นสามแบบ

  1. เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนตั้งครรภ์ คือมีความดันโลหิตสูงก่อน 20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ และยังสูงต่อเนื่อง 6 สัปดาห์หลังคลอด
  2. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ Gestational hypertension คือความดันโลหิตสูงหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 20 สัปดาห์และมีโปรตีนในปัสสาวะน้อยกว่า300มิลิกรัม
  3. ครรภ์เป็นพิษ Pre-eclampsia หมายถึงความดันโลหิตสูงหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์และมีโปรตีนในปัสสาวะมากว่า 300 มิลิกรัมต่อวัน อาจจะมีอาการบวมหรือไม่ก็ได้
  4. Eclampsia คือมีอาการชักในผู้ป่วย Pre-eclampsia
  5. HELLP syndrome คือภาวะที่การแตกของเม็ดเลือดแดง และมีการอักเสบของตับ


ความเสี่ยงของการเกิดครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร

ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงของการเกิดครรภ์เป็นพิษ

  • เป็นโรคความดันโลหิตสูงในระว่างการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา
  • โรคไตเรื้อรัง
  • เป็นโรค SLE
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ครรภ์แรก
  • อายุแม่มากกว่า 40 ปี
  • การตั้งครรภ์ห่างจากครรภ์ที่แล้วมากกว่า 10 ปี
  • อ้วนมีดัชนีมวลกายมากกว่า 30
  • ประวัติครรภ์พิษในครอบครัว 

หากคุณเป็นคนอ้วน

หากน้ำหนักคุณเพิ่มขึ้นมากหรือเป็นคนอ้วนจะทำให้ความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

วัยทองกับความดันโลหิต

เมื่อคุณเข้าสู่วัยกลางคนคืออายุตั้งแต่ 30-50 ปีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับร่างกายคุณ คุณจะพบว่าน้ำหนักจะเริ่มเพิ่มขึ้น และคุณจะพบว่าการลดน้ำหนักจะเป็นเรื่องยาก คุณจะพบว่าส่วนที่อ้วนจะเป็นส่วนท้องแทนบริเวณขาหรือก้น คุณแม่บ้านทั้งหลายก็ยังไม่ตระหนักถึงน้ำหนักที่เพิ่มว่าจะส่งผลเสียต่อคุณในอนาคต สาเหตุที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้แก่

  • การออกกำลังกายน้อย หรือการเคลื่อนไหวน้อยลงทำให้มีพลังงานเหลือสะสมเป็นรูปไขมัน
  • รับประทานมากขึ้น ส่วนใหญ่จะตอบว่ารับประทานน้อย การที่จะบอกว่ารับประทานมากหรือน้อยเราจะตัดสินจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หากน้ำหนักคุณเพิ่มแสดงว่าพลังงานที่ได้จากอาหาร มากกว่าพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน ให้กลับไปทบทวน
    • ปริมาณที่รับประทานแม้ว่าท่านจะรับประทานเท่าเดิมแต่น้ำหนักท่านอาจจะเพิ่มเนื่องจากท่านออกกำลังกายน้อยลง หรืออาจจะรับประทาอาหารอย่างอื่นเพิ่มขึ้น
    • ความถี่ของการรับประทาน ท่านอาจจะรับประทานครั้งละไม่มากแต่รับประทานบ่อย
    • ชนิดของอาหารที่รับประทาน ท่านรับประทานอาหารหวานหรืออาหารมันมากเกินไปหรือเปล่า ของทอด
    • รับทานของว่างมากหรือไม่ หลายท่านรับประทานแต่ละมื้อไม่มากแต่รับของว่างมากเช่นผลไม้ ขนมปัง ของว่าง
    • น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเปล่าหรือน้ำอัดลมหรือพวกที่ใส่น้ำตาล
  • การเผาพลาญของร่างกายลดลง
  • กรรมพันธ์

ผลเสียของการที่มีน้ำหนักเพิ่ม

  • ระดับไขมันเพิ่ม
  • ระดับน้ำตาลเพิ่ม
  • เกิดภาวะ Metabolic syndrome

การป้องกัน

เมื่อคุณอยู่ในวัยทอง คุณจะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย แม้ว่าก่อนหน้านี้คุณจะมีความดันปกติ ดังนั้นในช่วงวัยทองควรจะวัดความดันโลหิตเป็นระยะ สำหรับผู้ที่รับประทานฮอร์โมนผู้ป่วยส่วนใหญ่ความดันโลหิตไม่สูง แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนจะต้องวัดความดันโลหิตตามแพทย์นัด

หากคุณเป็นความดันโลหิตสูงคุณต้องรักษาความดันโลหิต ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

สัญญาณเตือนภัย โรคความดันโลหิตสูง

 

ทบทวนวันที่

โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

Google
 

เพิ่มเพื่อน