การออกกำลังกายสำหรับโรคไต


  1. โรคไตเสื่อม
  2. อาการโรคไตเสื่อม
  3. การวินิจฉัยโรคไตเสื่อม
  4. การแบ่งระดับความรุนแรงของโรคไตเสื่อม
  5. การักษาไตเสื่อม
  6. การป้องกันไตเสื่อม
  7. การรับประทานอาหารเพื่อป้องกันไตเสื่อม
  8. การออกกำลังกายสำหรับไตเสื่อม

การออกกำลังกาย

ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายท่านอาจรู้สึกว่าตนเจ็บป่วยเกินกว่าที่จะออกกำลังกายได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อทุกคน หากไม่ออกกำลังกายจะส่งผลให้กล้ามเนื้อและหัวใจอ่อนกำลังลง และข้อต่อต่างๆ จะไม่แข็งแรง ดังนั้นการออกกำลังกายจะทำให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

ความสำคัญของการออกกำลังกาย

  • ช่วยให้หัวใจแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  • เพิ่มระดับของ hematocrit และ hemoglobin ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ลดความดันโลหิต
  • ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
  • ลดความตึงเครียด

คำแนะนำในการออกกำลังกาย

ควรเลือกการออกกำลังกายที่ชอบและสะดวกที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกกำลังกายในร่ม การเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ในสัปดาห์แรก คุณควรใช้เวลาเพียง 5 นาทีต่อวัน จากนั้นเพิ่มเวลาขึ้นอีก 2-3 นาทีในสัปดาห์ต่อๆ ไปจนกระทั่งสามารถออกกำลังกายได้ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักควรเดินให้นานขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 20-30 นาที

อย่าออกกำลังกาย หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • อากาศร้อนและมีความชื้นสูง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ

หยุดออกกำลังกายทันที หากรู้สึกดังต่อไปนี้

  • เหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก
  • หายใจไม่ทัน
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือไม่เป็นจังหวะ
  • คลื่นไส้
  • เป็นตะคริว

การสูบบุหรี่กับโรคไตเรื้อรัง

การสูบบุหรี่เป็นการนำสารพิษเข้าไปในร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายเกือบทุกอวัยวะ โดยมีผลเสียต่อไต ดังนี้

  • ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นรวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ
  • ลดอัตราการไหลเวียนของโลหิตในไต
  • ทำให้เส้นเลือดในไตตีบ
  • ทำลายเส้นเลือดแดงเล็กๆ
  • ทำให้เส้นเลือดในไตอุดตัน


ปัจจัยเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังสูบบุหรี่ โดยยิ่งสูบมากก็ยิ่งเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายเร็วขึ้น เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น มีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไตกำลังถูกทำลาย นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพที่มักเกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรกระทำเพื่อช่วยรักษาหน้าที่ของไตให้คงอยู่

เคล็ดลับในการเลิกบุหรี่

ปริมาณของบุหรี่ที่สูบเข้าไปมีผลต่อการเร่งระยะเวลาในการเข้าสู่โรคไตวายระยะสุดท้าย การสูบบุหรี่ให้น้อยลงจึงเป็นวิธีการช่วยชะลอการเสื่อมของไต อย่างไรก็ตาม การเลิกสูบไปเลยเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยาก อาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งในการเลิกให้ได้ขาด แต่ก็นับเป็นความพยายามที่คุ้มค่ามาก

  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการบำบัดโดยใช้สารแทนนิโคติน เช่น หมากฝรั่ง หรือยา
  • กำหนดวันเริ่มการเลิกบุหรี่ และกำจัดบุหรี่ออกจากรอบตัวให้หมด
  • ค้นหาวิธีช่วยลดหรือบรรเทาอาการอยากสูบบุหรี่ เช่น เคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม หายใจเข้าลึกๆ หรือทำสมาธิจนกว่าความอยากจะหายไป หากิจกรรมทำที่เพลิดเพลินแทนการสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • เข้าร่วมโปรแกรมการเลิกบุหรี่
  • พยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกได้

การออกกำลังกายอย่างปลอดภัย