ภาวะคีโตซีส [Diabetic acidosis, DKA]

คืออะไรเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ภาวะนี้เกิดจากการเสียสมดุลของอินซูลิน ซึ่งอาจจะขาดหรือน้อยไป กับฮอร์โมนต้านฤทธิ์อินซูลิน เช่น glucagon steroid และ catecholamine สูงขึ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะระดับน้ำตาลสูง และภาวะกรดในเลือด และมีการคั่งของคีโตนในเลือด คีโตนนี้เป็นกรดจะตรวจพบในปัสสาวะหากว่าอินซูลินไม่พอ และเบาหวานควบคุมไม่ดี

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดมีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้แก่โรคหรือภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • เส้นเลือดหัวใจตีบ
  • สุรา
  • ยาบางชนิดเช่น corticosteroids, thiazides, and sympathomimetic agents

ผู้ป่วยจะมีอาการอะไรบ้าง

  • คลื่นไส้ อาเจียนมาก พบเกือบทุกราย
  • ปวดท้องในบางราย
  • คอแห้ง
  • กระหายน้ำ
  • ปัสสาวะมากบางรายอาจจะมากถึง 5 ลิตร
  • ลมหายใจมีกลิ่นหวานของอะซีโตน และคีโตน
  • หายใจหอบลึก
  • ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ

หากยังไม่ได้รับการรักษาจะเกิดอาการต่อมา

  • รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น
  • ผิวแดง และแห้ง
  • คลื่นไส้อาเจียน และปวดท้องมากขึ้น
  • หายใจหอบ และลึก มีกลิ่นผลไม้
  • ซึมลง

ทราบได้อย่างไรว่าเกิดภาวะนี้

จากอาการดังกล่าวร่วมกับการตรวจดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในปัสสาวะสูงบวก4 หากน้ำตาลในเลือดสูงให้ตรวจหาคีโตนในปัสสาวะ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 240 มก.%
  • ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ

ปัจจัยชักนำให้เกิด

  • การขาดยาอินซูลิน
  • ความเครียดต่างๆ เช่น ภาวะติดเชื้อ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

การรักษา

หลักการรักษาคือขจัดสิ่งทีชักจูง และชดเชยสิ่งที่ขาด ได้แก่

  • การให้อินซูลินออกฤทธิ์ระยะสั้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 5-10 ยูนิต ถ้าอีก 4 ชั่วโมงต่อมายังตรวจพบคีโตนอีกให้ฉีดซ้ำได้อีก
  • การให้ดื่มน้ำมากๆ
  • การให้เกลือแร่
  • การให้ด่างเมื่อมีความจำเป็น
  • การรักษาหรือขจัดสิ่งชักจูง

การป้องกัน

ภาวะนี้สามารถป้องกันได้โดยให้ความรู้ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำว่าเมื่อมีอาการปัสสาวะมากขึ้น คอแห้งกระหายน้ำจะต้องตรวจหาน้ำตาลในเลือดหรือปัสสาวะทันที ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 300 มก./ดล หรือน้ำตาลในปัสสาวะ 3+ จะต้องทดสอบหาคีโตนในปัสสาวะทันที ถ้าตรวจพบคีโตนแล้วยังไม่เกิดอาการอื่นโดยเฉพาะคลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำมากๆ และเพิ่มยาฉีดชนิดออกฤทธิ์เร็ว 6-12 ยูนิตแล้วสังเกตุ 4-6 ชมโดยการตรวจน้ำตาล ถ้าเกิน 240 มก.%ให้ตรวจหาคีโตนถ้าไม่ดีขึ้นรีบพบแพทย์ ข้อสำคัญถ้าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 240 มก.% และตรวจพบคีโตนในปัสสาวะห้ามออกกำลังกาย

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งการควบคุมอาหาร การฉีดอินซูลิน และการออกกำลังกาย
  • ไม่ควรออกกำลังกายหากน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 240 มก.%
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1 ตรวจหาสารคีโตนในเลือดเมื่อน้ำตาลในปัสสาวะ4บวก
  • ห้ามหยุดอินซูลินเมื่อเวลาป่วย

ควรพบแพทย์เมื่อใด

  • อาเจียนมาก อาเจียนตลอดเวลา
  • ไข้สูงเกิน 39 องศา
  • ระดับน้ำตาลเกิน 400 มก%นานเกิน 12 ชั่วโมง
  • ฉีดอินซูลินเพิ่มขึ้น 20%มากกว่า 2 ครั้งใน 24 ชั่วโมง แต่อาการและผลเลือดยังไม่ดีขึ้น

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคีโตซีส

คีโตนเกิดจากการเผาผลาญไขมันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน การพบคีโตนในเลือดแดงแสดงถึง

  1. อินซูลินไม่พอ อาจจะเกิดจากลืมฉีด หรือภาวะที่ต้องการอินซูลินเพิ่ม เช่นเวลาเจ็บป่วย เมื่ออินซูลินไม่พอร่างกายจึงเผาไขมันเป็นพลังงาน
  2. ได้อาหารไม่พอ เช่นเวลาเจ็บป่วยรับประทานอาหารไม่พอ
  3. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ร่างกายก็เผาไขมันมาใช้เป็นพลังงาน


ภาวะคีโตซีส | ภาวะหมดสติจากน้ำตาลสูง | ภาวะน้ำตาลต่ำ


ภาวะฉุกเฉินในผู้ป่วยเบาหวาน  

โรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน

โรคแทรกซ้อน | ภาวะฉุกเฉิน | โรคหัวใจ | โรคความดันโลหิตสูง โรคไต  โรคตา  โรคปลายประสาทอักเสบ โรคเบาหวานกับเท้า