ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยืนทำงาน



ยืนออกกำลังกาย

ผลกระทบต่อร่างกาย

เนื่องจากในการยืนทำงาน จะต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนขาทั้งสองข้าง กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อคอ ซึ่งหากต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน และไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ หรือท่าทางในการยืนทำงานเลย ก็สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ที่ยืนทำงานได้ โดยอาจส่งผลกระทบได้ดังนี้

  1. เกิดอาการล้า และปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ หลัง และขา ซึ่งเกิดจากที่กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวต้องเกร็งอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ยืนทำงาน ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้อยลง จึงเกิดอาการล้าและการเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อดังกล่าว
  2. อาจก่อให้เกิดเลือดคั่งบริเวณขาและเท้า ซึ่งจะมีผลทำให้เส้นเลือดดำมีอาการบวมโป่งหรือเป็นเส้นเลือดขอด
  3. อาจทำให้ข้อต่อต่างๆ ของกระดูกสันหลัง สะโพก หัวเข่า และเท้าชาชั่วคราว และอาจนำไปสู่โรคข้อเสื่อมที่เกิดจากเส้นเอ็นถูกทำลายได้


การออกแบบสถานที่ทำงานสำหรับผู้ที่ยืนทำงาน

  1. ควรออกแบบหรือจัดสถานที่ทำงานใหม่ ให้มีเนื้อที่ว่างเพียงพอสามารถขยับ และเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก หรือสามารถเปลี่ยนอิริยาบถ หรือท่าทางการทำงานเป็นยืนสลับนั่งได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยจัดหาเก้าอี้หรือเก้าอี้กึ่งนั่งกึ่งยืนให้ผู้ปฏิบัติงาน
  2. ควรจัดให้มีเก้าอี้หรือม้านั่งในบริเวณใกล้จุดปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ที่ยืนทำงานสามารถนั่งได้ขณะทำงานเอกสาร หรือนั่งพักในขณะที่ไม่มีลูกค้า หรือนั่งพักขณะที่เป็นช่วงพัก
  3. สามารถปรับระดับความสูงต่ำของโต๊ะงานได้เพื่อให้งานอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสมกับความสูงของผู้ปฏิบัติงานที่ยืนทำงาน
  4. ควรจัดเตรียมงานให้อยู่ในระยะที่สามารถหยิบจับได้ง่าย
  5. ควรจัดให้มีแผ่นยางรองพื้น หรือพรมปูพื้นสำหรับรองยืน หรือแผ่นรองยืนที่ทำจากวัสดุที่เหมาะสมที่ไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป เพื่อป้องกันความเมื่อยล้าเมื่อต้องยืนทำงานเป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงการยืนทำงานบนพื้นปูน คอนกรีต หรือโลหะ
  6. บริเวณพื้นที่ยืนทำงานต้องเป็นพื้นที่มีระนาบเดียวกัน สะอาด ไม่ลื่น และไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งของวางเกะกะ
  7. จัดแสงสว่างที่เหมาะสมและเพียงพอในการทำงานที่ต้องยืนทำงาน

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยืนทำงาน

  1. ไม่ควรยืนตัวตรงเป็นเวลานานเกิน 10 นาที ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง หรือควรยืนในลักษณะพักขาข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อขาได้พัก โดยให้สลับขาพักหรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรจะมีที่วางพักเท้าที่มีขนาดกว้างและยาวพอสามารถสลับพักเท้าด้านซ้ายและด้านขวาได้สะดวก
  2. หลีกเลี่ยงการยืนทำงานในท่าทางเดียวนานๆ โดยควรจัดให้มีงานหลายๆ ลักษณะเพื่อผู้ปฏิบัติงานจะได้ทำงานในลักษณะ หรือท่าทางที่แตกต่างกันออกไปและมีการใช้กล้ามเนื้อมัดที่แตกต่างกัน
  3. จัดให้มีการหมุนงานหรือหมุนคน เพื่อลดความเมื่อยล้าของอวัยวะและกล้ามเนื้อบางส่วนที่ต้องทำงานซ้ำซากเป็นเวลานาน
  4. ควรมีการพักช่วงสั้นๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการปวดเมื่อย โดยในช่วงพักควรเปลี่ยนอิริยาบถหรือท่าทางจากการยืนเป็นการนั่ง หรือมีการนวดเท้า หรือมีการบริหารร่างกายในท่าง่ายๆ ที่เหมาะสม
  5. ไม่ควรสวมใส่รองเท้าส้นสูงสูงเกินกว่า 1 นิ้ว เมื่อต้องยืนนานๆ เพราะการสวมใส่รองเท้าส้นสูงจะทำให้หลังแอ่นมากขึ้นและเกิดการปวดหลังได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ความสูงของรองเท้ายังมีผลกระทบต่อการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่องมากด้วย
  6. ควรสวมใส่รองเท้าที่ไม่เปลี่ยนรูปทรงของเท้า โดยสวมใส่แล้วกระชับพอดีกับเท้าและสามารถขยับนิ้วเท้าไปมาได้ ทั้งนี้รองเท้าที่สวมใส่ควรรับกับความโค้งของเท้าของผู้สวมใส่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายเท้า และสามารถรองรับน้ำหนักตัวเองได้อย่างเหมาะสม
  7. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา
  8. หลังจากเลิกงานในแต่ละวันควรบริหารร่างกายที่บ้าน เพื่อป้องกันและลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยปฏิบัติตามท่ากายบริหารที่ได้รับการออกแบบอย่างดีและเหมาะสมแล้ว

ที่มา: คู่มือการจัดการความปลอดภัยในการทำงาน สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน

http://www.otat.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=538704253&Ntype=2

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน | การวินิจฉัยและการรักษา | การป้องกันกระดูกพรุน | การออกกำลังกายเพื่อลดการเกิดกระดูกพรุน | ข้อปฏิบัติเมื่อเวลายืนนานๆ