การตรวจการทำงานของตับ Aspartate aminotransferase (AST)
AST หรือ Aspartate aminotransferase; Serum glutamic-oxaloacetic transaminase; SGOT ค่าเอนไซม์ AST เป็นเอนไซม์ที่ใช้ช่วยตรวจวินิจฉัยภาวะโรคตับ และภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหัวใจ โดยเอนไซม์ AST พบได้มากที่ตับ และกล้ามเนื้อหัวใจ และส่วนน้อยพบได้ที่ เซลล์กล้ามเนื้อโครงร่าง, ไต, สมอง, ตับอ่อน, ปอด, เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ซึ่งแตกต่างจากค่าเอนไซม์ตับ ALT ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับตับมากกว่า AST ค่า AST ที่สูงขึ้นจะแปรผันโดยตรงกับจำนวนเซลล์ของอวัยวะ ซึ่งต้องรับอันตราย
ค่า AST จะเริ่มสูงขึ้นเมื่อเซลล์ได้รับบาดเจ็บผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมงโดยผลของเซลล์ที่ได้รับอันตรายให้ต้องบาดเจ็บ เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 8 ชั่วโมง และขึ้นสูงสุดภายใน 24-36 ชั่วโมง
แต่หากการบาดเจ็บของเซลล์มีลักษณะยืดเยื้อเรื้อรัง้ค่าของ AST ก็จะยังคงสูงอยู่ต่อไป
เมื่อไรแพทย์จะส่งตรวจการทำงานของตับ AST
เหตุผลในการส่งตรวจการทำงานของตับ AST
- ตรวจสอบการทำงานของตับ
- หาสาเหตุของโรคตับในกรณีที่มีอาการของโรคตับเช่นเจ็บชายโครง คลื่นไส้อาเจียน และตัวเหลืองตาเหลือง
- ตรวจสอบว่าการรักษาโรคตับได้ผลหือไม่
- แยกโรคดีซ่านว่าเป็นจากโรคเลือดหรือโรคตับ
- ติดตามผลข้างเคียงของยารักษาไขมัน
แพทย์บางท่านจะส่งการตรวจการทำงานของตับเหมือการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ความจริงการส่งตรวจการทำงานของตับควรจะส่งในรายที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคตับ
- ผู้ที่มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ
- รับประทานยาหรือสมุนไพร หรือวิตามิน ในปริมาณและขนาดที่อาจจะสามารถทำลายตับได้
- ภาวะอ้วน น้ำหนักเกินหรือ เป็นเบาหวานแต่อย่างไรก็ตามในบางรายการเพิ่มขึ้นของค่าเอนไซม์ตับ อาจจะไม่แสดงอาการของโรคให้เห็นได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี พิษจากยาบางชนิด พิษจากแอลกอฮอล์ เป็นต้น
แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะส่งตรวจการทำงานของตับในรายที่มีอาการของโรคตับ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- อ่อนแรง อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง, ท้องบวม ท้องมาน
- ภาวะดีซ่าน (Jaundice) คือมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- คันที่ผิวหนัง
ค่าปกติของ AST
- ผู้ชาย AST : 8 – 46 U/L
- ผู้หญิง AST : 7 – 34 U/L
โดยเหตุนี้ ค่า AST จึงอาจใช้เป็นเพียงตัวร่วมเพื่อบ่งชี้ พร้อมกับค่าผลเลือดตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้น ๆ เช่น กรณีตัวอย่าง ดังนี้
- กรณีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction, MI) ซึ่งจะเป็นเหตุให้เซลล์หัวใจได้รับบาดเจ็บจากการที่มีออกซิเจนไปส่งให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ
การจะวินิจฉัยว่า เกิดสภาวะ MI หรือไม่เพียงใด แพทย์ท่านอาจจะต้องทราบค่าจากผลตรวจเลือด
พร้อมกันอย่างน้อย 3 ตัว คือ
- AST ซึ่งแสดงค่าสูงหรือต่ำ ตามจำนวนเซลล์หัวใจที่บาดเจ็บ
- CPK (creatinine phosphokinase) ซึ่งจะแสดงค่าเฉพาะเอนไซม์ตัวสำคัญของหัวใจ
- LDH (lactic dehydrogenase) จะแสดงค่าเอนไซม์ภายในเนื้อของเซลล์ที่บาดเจ็บนั้น ๆ ว่าร้ายเพียงใด โดย LDH จะถูกแยกย่อยเป็นหมายเลขประจำแต่ละอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อ เช่น หัวใจนั้นจะต้องตรวจหาค่าเฉพาะ LDH-1 และ LDH-3 ก็จะทราบระดับความร้ายแรงของโรค MI
กรณีสภาวะความเสียหายของตับ ในชั้นต้น อาจจำเป็นต้องหาผลเลือด จำนวน 2 ตัว คือ
- AST
- ALT
ค่าผิดปกติ
ในทางน้อย มักไม่ใคร่ปรากฏและไม่มีนัยสำคัญ หรืออาจสรุปว่ายังไม่มีโรคสำคัญก็ได้
ค่า ASTมากกว่าปกติ สาเหตุ
- อาจเกิดการอักเสบหรือปวดเจ็บของเนื้อเยื่อของหัวใจ หรือตับหรือกล้ามเนื้อ หรือตับอ่อน ก็ได้
ในกรณีค่า AST สูงกว่าปกติเล็กน้อย สาเหตุ
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ
- ติดเชื้อไวรัสจากโรค โมโนนิวคลีโอซิส (mononucleosis)
- ตับอาจติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรัง
- อาจเกิดมีนิ่วในถุงน้ำดี
- อาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งที่เริ่มไปถึงตับ
- อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางโรค เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล ยาแก้เชื้อรา ยาเสพติด หรือแม้แต่แอสไพริน
AST สูง 2-5 เท่าจากค่าปกติ สาเหตุ
- โรคมะเร็งตับระยะแพร่กระจาย
- โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดปอดอุดตัน
- พิษสุราเรื้อรัง
- โรคไขมันพอกตับ
AST สูง 5-10 เท่าจากค่าปกติ สาเหตุ
- กำลังเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง เช่น จากไวรัส
- โรคกล้ามเนื้อลีบ (muscular dystrophy) เช่น จากการกินยาลดคอเลสเตอรอล
AST สูง 10-20 เท่าจากค่าปกติ สาเหตุ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง
- โรคจูบปาก (mononucleosis) หรือ
- อาจเกิดโรคตับแข็งจากพิษสุรา
กรณี AST สูงเกินกว่า 20 เท่าของค่าปกติ สาเหตุ
- สภาวะตับได้รับอันตราย เช่น ไวรัสตับอักเสบ ตับอักเสบจากยา ตับอักเสบจากสารพิษ
- กล้ามเนื้อโครงร่าง (skeletal muscle) ของร่างกายได้บาดเจ็บฟกช้ำอย่างรุนแรง
- หรือภายหลังการรับการผ่าตัดใหญ่
- หรือกินยาแต่เกิดพิษต่อตับทำให้เซลล์ตับเสียหาย
- หรืออาจเกิดสภาวะอุดตันภายในตับเอง
ข้อที่ควรจะคำนึงถึง
เนื่องจากเอนไซม์พบได้ทั้งใน ตับ กล้ามเนื้อ หัวใจ ไต สมอง ตับอ่อน ดังนั้นในการวินิจฉัยโรคจะต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วย และผลเลือดอื่นๆเนื่องจากการตรวจเลือดหาค่า ALT มักจะต้องมี AST ควบคู่มาด้วยเสมอ โดยเหตุนี้ จึงมีผู้เชี่ยวชาญช่วยกันวิเคราะห์ว่า อัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจใช้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นตัวบอกข้อบ่งชี้โรคตับได้อย่างหยาบ ๆ โดยมีสถิติที่เคยปรากฏเป็นข้อยืนยัน และเรียกอัตราส่วน ทั้งนี้ DeRitis Ratio ได้อาศัยสถิติที่ผ่านมา รวบรวมเป็นข้อสันนิษฐานโรคเกี่ยวกับตับ สรุปได้ดังนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนของAST : ALT ตามชื่อผู้ค้นคว้าคนแรกนี้ว่า "DeRitis Ratio"
De Ritis Ratio Decision Limit | ||||
---|---|---|---|---|
โรคหรือสุขภาพ | <1.0 | 1.0 to <1.5 | 1.5 to <2.0 | ≥ 2.0 |
แข็งแรง | ผู้หญิง (up to 1.7) | เด็ก | ทารก | |
Men (up to 1.3) | ||||
ไวรัสตับอักเสบ | กำลังดีขึ้น | แย่ลง | ตับวาย | |
ตับอักเสบจากสุรา | กำลังดีขึ้น | ติดสุรา | ตับอักเสบเฉียบพลัน | |
โรคตับเรื้อรัง | คงที่ | เสี่ยงต่อการเกิดพังผืด | Other Causes | |
โรคกล้ามเนื้อ | เรื้อรัง | กำลังดีขึ้น | เฉียบพลัน |
ก่อนการตรวจเลือดต้องแจ้งแพทย์เรื่องต่อไปนี้
- ชื่อและขนาดของยาที่รับประทาน
- รับประทานวิตามินเอ ในขนาดสูง
- สมุนไพร
- หากได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ
- ได้ทำบอลลูนหัวใจ
Albumin | Globulin | Alkaline phosphatase | AST | ALT | Bilirubin | การแข็งตัวของเลือด | Gamma Glutamic Transpeptidase | lactic dehydrogenase test | การตรวจการทำงานของตับ
ทบทวนวันที่22/1/2566
โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
|
---|